ส.ส.ประชาชาติ แนะต้องเยียวยาเสมอภาค หากพรก.กู้เงินผ่าน พร้อมจี้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน 3 จว.ชายแดนใต้

วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นที่รัฐบาลเสนอให้พิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 เยียวยาและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และ 3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอนั้น

นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ที่ได้มอบหมายให้เป็นตัวแทนพรรคประชาชาติอภิปรายเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับที่รัฐบาลได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ดีใจที่นายกรัฐมนตรีรับฟังในขณะที่กำลังอภิปรายนี้ โดย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 พรรคประชาชาติเราเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาด เราเห็นว่ามาตรการ “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ต้องเดินควบคู่กับ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม” ด้วย มีข้อห่วงกังวลหลายประการกับปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส กังวลว่าหากรัฐบาลกู้เงินแล้วจะไม่แก้ปัญหาตรงจุด และขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ที่ท่านเขียนขึ้น ซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจน ในหมวดที่ 3 สิทธิเสรีภาพของประชาชน มาตรา 27 “ประชาชน บุคคล ย่อมเสมอกันในกฎหมาย การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่าง ทางเชื้อชาติ ชาติกำเนิด สถานะทางเศรษฐกิจ และสังคม” ไม่อาจกระทำได้ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันนี้ ความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมกำลังเกิดขึ้น การแก้ปัญหาโดยใช้ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และต้องมีรัฐสวัสดิการที่มีความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่จะไปขอใช้สิทธิกับรัฐ ซึ่งรัฐยังละเลยหน้าที่ที่จะทำให้เกิดความเสมอภาค

หนี้ 1 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะ ที่ทุกคนในประเทศนี้จะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน บางคนไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากการกู้เงินครั้งนี้ หากดูในแผนงบประมาณที่ระบุไว้ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกระทรวงสาธารณสุข ตามแผนงาน 1.1 แผนงานโครงการเกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายค่าเยียวยาค่าชดเชย ค่าเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ท่านทราบหรือไม่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการ ปฎิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และอีกหลายหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้อง กับการแพทย์และสาธารณสุข จึงหวังว่าท่านจะให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ด้วย

แผนงานที่ 1.3 แผนงานโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย บำบัดรักษาป้องกันการควบคุมโรคการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เช่นกัน ในมาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิ์ได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ และบุคคลย่อมมีสิทธิ์ได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไมาเสียค่าใช้จ่าย หวังว่าหลังจากที่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐจะมีบริการ เจล แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ให้ประชาชนฟรี ทราบข่าวว่าที่ประเทศสิงคโปร์ มี “ตู้สู่ชุมชน” แจกหน้ากากอนามัยฟรี โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนกดที่ตู้ ผมก็หวังว่าหลังจากนี้ประชาชนจะได้รับสิ่งเหล่านี้จากรัฐบาล

แผนงานที่ 1.4 ค่าใช้จ่ายในการกักตัว ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการใช้งบประมาณที่เป็นเงินสะสมของท้องถิ่น และอีกส่วนเป็นงบประมาณกลางของจังหวัด รวมถึงค่าอาหารและสถานที่ จึงขอถามว่าหลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบงบประมาณในส่วนนี้หรือไม่ เพราะมีความห่วงกังวลว่างบประมาณที่เป็นเงินสะสมของท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่นั้นมีจำนวนไม่เท่ากัน ไม่ทราบว่าใช้เงินสะสมไปหมดแล้วหรือยัง โดยเฉพาะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องรองรับพี่น้องประชาชนที่จะเดินทางกลับจากมาเลเซียเพิ่มอีกหลังจากนี้ อบต. และเทศบาล มีเงินเพียงพอที่จะรองรับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ และสถานที่กักตัวส่วนใหญ่เป็นโรงเรียน ซึ่งหลังจากนี้วันที่ 1 กรกฎาคม โรงเรียนจะเปิดทำการ จะหาสถานที่ไหนกักตัว จะอยู่ในงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบด้วยหรือไม่อย่างไร

แผนงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาชดเชย ให้แก่ประชาชน โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ 5.5 แสนล้านบาท หลังจากนี้ไป อยากจะเห็นรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย พร้อมยกเลิกเงื่อนไข fit to travel ซึ่งก่อนหน้านี้โฆษก ศบค.ได้แถลงข่าวว่า ประชาชนเดินทางกลับจากมาเลเซียลดลง ไม่เต็มตามจำนวนที่กำหนด 350 คนต่อวัน ท่านทราบหรือไม่ว่าที่เขาเดินทางกลับมาไม่ได้ก็เพราะไปกำหนดเงื่อนไข fit to travel ให้เขาไปหาใบรับรองแพทย์ ซึ่งมีความยากลำบาก และมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 3-4 พันบาท จึงเป็นที่มาของการลักลอบเดินทางกลับตามช่องทางธรรมชาติ ซ้ำร้ายกว่านั้น กลับทางช่องทางธรรมชาติยังถูกจับปรับอีกไม่น้อยกว่า 800 บาท สาเหตุที่เขาเดินทางกลับมาทางช่องทางธรรมชาติเพราะเขาเดือดร้อน จึงต้องการกลับบ้าน บางคนไม่มีเงินติดตัว ต้องยอมขายโทรศัพท์เพื่อจ่ายค่าปรับ และร้ายยิ่งกว่านั้น มีการแอบเก็บดีเอ็นเอของผู้ที่ถูกปรับด้วย หวังอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณส่วนนี้ไปดูแลประชาชนไทยในประเทศมาเลเซียด้วย หลังจากนี้เมื่อรัฐบาลมาเลเซียยกเลิกมาตรการควบคุมการเดินทาง (MCO) แล้ว เขาจะต้องผลักคนต่างชาติออกภายใน 14 วัน เราจะมีแนวทางช่วยเหลือประชาชนของตนเองที่ไปทำงานอยู่ในมาเลเซียอย่างไร

สิ่งที่ได้เน้นย้ำเรื่องการเยียวยาต้องมีความเสมอภาค เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามประกาศให้กลุ่มเปราะบาง รวมถึงเด็ก 0-6 ขวบ จำนวน 1.2 ล้านคน ที่อยู่ในฐานข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) แต่พบข้อมูลว่ามีเด็กจำนวนกว่า 4 ล้านคน แต่ฐานข้อมูลของ พ.ม. มีจำนวน 1.2 ล้านคน เพราะไปกำหนดเพดานผู้ปกครองมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ดังนั้น จำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน รวมถึงนักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์ด้วย แต่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นสมาชิก กอช. ผมไปสำรวจดูพบนักศึกษาที่เป็นสมาชิก กอช. มีเพียง 1.4 แสนคน จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด 1.7 ล้านคน นี่หรือเราไม่ทิ้งกัน…?

เรื่องการศึกษาในช่วง ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด สอบถามนักศึกษาไม่มีใครเห็นด้วยกับการเรียนออนไลน์ เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ดี บางบ้านไม่มีโทรศัพท์ใช้เลย และต้องมองในมิติทางศาสนาด้วย เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียนสามัญควบคู่ศาสนา ในส่วนนี้จะนำงบประมาณในแผนงานไหนมาดูแลที่กำลังจะเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ มีครูที่ไม่มีรายได้ในช่วงที่โรงเรียนปิด เช่นวิทยากรอิสลามศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนกว่าร้อยคน รับจ้างสอนรับค่าตอบแทนรายชั่วโมง ปัจจุบันโรงเรียนปิดไม่มีค่าตอบแทน ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาก็ไม่ได้รับสิทธิ์ ผมหวังว่าหลังจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฏรแล้ว จะได้รับการแก้ปัญหาตรงตามชื่อของ พ.ร.ก.

ประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลังจากประกาศใช้ทั่วประเทศกว่า 2 เดือน ท่านเพิ่งรู้หรอว่าการถูกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรู้สึกอย่างไร มีความรู้สึกถูกจำกัดเสรีภาพ ท่านทราบหรือไม่ว่าพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมา 16 ปีแล้ว ท่านทั้งหลายเพิ่งจะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแค่ 2 เดือน ถ้าท่านจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่าลืม ช่วยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย