เพื่อไทย ร้องสอบสร้างถนน 4 โครงการ 200 ล้าน หึ่งล็อกให้บ.ใกล้ชิด ’บิ๊กมท.’

‘ยุทธพงศ์’-ส.ส.มหาสารคาม พท. ร้องผู้ว่าฯสอบสร้างถนน 4 โครงการกว่า 200 ล้าน หึ่งล็อกให้บ.ใกล้ชิด’บิ๊กมท.’

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม เขต 3 และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม เขต 5 และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ ส.ส.มหาสารคาม เขต 2 นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ ส.ส.มหาสารคาม เขต 4 และ นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม เขต 1 เดินทางไปยื่นหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ 2858 ถึง นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เรื่องขอให้ตรวจสอบการล็อกสเปก (กีดกันการแข่งขันราคา) การประกวดราคาในระบบ E-Bidding ของโครงการจ้างก่อสร้างโครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง (ขยายถนน จาก 2 เลน ไปเป็น 4 เลน) จำนวน 4 โครงการ, งบประมาณทั้งสิ้น 190 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณปี 2563 ของจังหวัดมหาสารคาม (งบมหาดไทย)

โดยหนังสือข้อร้องเรียนระบุว่า ตามที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้มอบอำนาจให้กรมทางหลวงโดยนายไวพจน์ สำราญดี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงจังหวัดมหาสารคามปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการถนนจำนวน 4 โครงการ ดังนี้ คือ
1.โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทาง สาย 2381 (นาเชือก-โพธิ์ทอง) ระยะทาง : 2.50 กม. วงเงิน 50 ล้านบาท วงเงินทำสัญญา 49.985 ล้านบาท ตำ่กว่าราคากลาง 15,000 บาท

2.โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2045 (หนองคูโคก-วาปีปทุม) ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 40 ลบ. วงเงินทำสัญญา 39.985 ลบ. ลดต่ำกว่าราคากลาง 15,000 บาท

3.โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2040 (วาปีปทุม-พยัคฆภูมิพิสัย) ระยะทาง 2.50 กม. วงเงินทำสัญญา 49.985 ลบ. ลดต่ำกว่าราคากลาง 15,000 บาท

4.โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2040(มหาสารคาม-วาปีปทุม) ระยะทาง 2.50 กม., วงเงินทำสัญญา 49.970 ลบ., ลดต่ำกว่าราคากลาง 30,000 บาท

ทั้งนี้ปรากฏว่าการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ทั้ง 4 โครงการ ได้ผู้รับจ้างรายเดียวทั้งหมดคือ หจก.บรบือพรเทพ และลดราคาต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อยคือโครงการละ 15,000 บาท
พบว่าในประกาศประกวดราคาของ 4 โครงการ ใช้ข้อกำหนดเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรับเหมาถนนรายอื่น ๆ ไม่สามารถยื่นซองประกวดราคาแข่งขันได้ดังนี้คือ

1.ใช้เครื่อง Hot Recycling ในการล็อกสเปกเพราะถ้าบริษัทรับเหมาที่ไม่มีเครื่องมือดังกล่าวก็ไม่สามารถยื่นซองได้ และการใช้เครื่อง Hot Recycling ก็ไม่เหมาะสมกับความเสียหายของถนนในพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคาม เนื่องความเสียหายของพื้นผิวถนนรุนแรงควรที่จะต้องซ่อมแซมถึงชั้นฐาน (Base) ของถนน

2.การกำหนดว่าจะต้องมีโรงงานผสมแอสฟัลต์คอนกรีต (Plant) รัศมี 100 กม. ถึงโครงการก่อสร้างเป็นการกีดกันไม่ให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ

3.การกำหนดว่าผู้ยื่นซองเสนอราคาจะต้องขึ้นทะเบียน Hot Recycling กับกรมทางหลวงเป็นการล็อกสเปก ให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดแม้แต่งานก่อสร้างฯของกรมทางหลวงเองก็ไม่เคยระบุเรื่องการขึ้นทะเบียนเครื่อง Hot Recycling กับกรมทางหลวง

4.จังหวัดมหาสารคามในอดีตเมื่อหลายปีที่ผ่านมาก็เคยดำเนินการประกวดราคางานก่อสร้างถนน ในลักษณะเดียวกันเหมือนกัน ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปีแต่ก็ไม่เคยมีการระบุในเรื่องของเครื่อง Hot Recycling และ Plant รัศมี 100.-กม. มาก่อน, ถือว่าเป็นข้อกำหนดใหม่

ดังนั้น ส.ส.จังหวัดมหาสารคามทั้ง 5 คน จึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้ท่านผู้ว่าการจังหวัดมหาสารคามได้ตรวจสอบความโปร่งใสและป้องกันการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน และในวันที่ 14 พฤษภาคม ส.ส. จังหวัดมหาสารคาม พรรค พท. ทั้งจังหวัดจะได้ยื่นเรื่อง ส่อทุจริตก่อสร้างถนนดังกล่าว ให้ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย แล อธิบดีกรมทางหลวง ได้ตรวจสอบต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า บริษัทที่ได้รับงานรับเหมารายเดียวยกจังหวัด เป็นของนักการเมืองที่มีตำแหน่งใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำให้ข้าราชการ มท.ของจังหวัดมหาสารคามเกิดความเกรงใจ