รองอธิบดีคุมโรค คาดเฟส 2 คนเดินทางข้ามจังหวัด ขอให้มั่นใจ พื้นที่ส่วนใหญ่ปลอดโรคแล้ว

ขอประชาชนมั่นใจ “ผ่อนปรนเฟส 2” อาจมีผู้เดินทางข้ามจังหวัดกลับไปทำงาน ไทยมีเพียง 9 จว.น่าห่วง หลงเหลือ “โควิด-19” อยู่ นอกนั้นเป็นพื้นที่ปลอดโรคแล้ว

กรณีการเตรียมเปิดกิจการ/กิจกรรม ในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตได้กึ่งปกติ และเพื่อให้กิจการต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ และคาดว่าจะมีผู้เดินทางกลับมาทำงานที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวนมาก ประชาชนจึงมีความกังวลว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หรือไม่

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามหลักทฤษฎีแล้วหากมีการเดินทาง มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การเดินจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเท่ากัน เช่น ความเสี่ยงต่ำไปสู่ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงสูงไปยังความเสี่ยงสูง กลุ่มที่ 2 การเดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไปยังพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ และกลุ่มที่ 3 การเดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำไปยังพื้นที่ความเสี่ยงสูง โดยลักษณะที่น่ากังวลที่สุดคือ การเดินทางในกลุ่มที่ 2 คือ การเดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไปยังพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หมายถึง จังหวัดที่เคยพบผู้ป่วยจำนวนมาก โดยขณะนี้มีอยู่ประมาณ 9 จังหวัด เช่น กทม.และปริมณฑล จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ จ.ชลบุรี จ.สงขลา จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี เนื่องด้วยจังหวัดดังกล่าวเคยมีรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก จึงคาดเดาได้ยากว่าขณะนี้มีผู้ป่วยในพื้นที่หลงเหลืออยู่หรือไหม ส่วนพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก เช่น พบ 1-2 ราย คาดว่าภายในจังหวัดจะสามารถจัดการกับผู้ป่วยได้หมดแล้ว ซึ่งอาจหมายความว่าไม่หลงเหลือผู้ป่วยแล้ว

“การเดินทางจากพื้นที่ที่มีความต่ำมายังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นการเดินทางจากพื้นที่ที่ไม่มีผู้ป่วยมายังพื้นที่ที่มีผู้ป่วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ว่าจะออกคำสั่งในการกักกันผู้เดินทางมาจากนอกพื้นที่ สรุปได้ว่าการกักกันผู้เดินทางเชิงทฤษฎีควรกักกันผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงที่เดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ หากมีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต่ำมายังพื้นที่ กทม. ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องกักกัน ซึ่งเป็นตามหลักการและทฤษฎี” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์กล่าวต่อว่า การกักกันผู้เดินทางมุมมองด้านวิชาการ หากมีการเดินทางจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงเท่ากัน คือ พื้นที่มีความเสี่ยงต่ำไปยังพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ ตามทฤษฎีแล้วการกักกันผู้เดินทางจะมีประโยชน์น้อย ยกเว้นกรณีการเดินทางจากพื้นที่มีความเสี่ยงสูงไปยังพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น เดินทางจาก จ.ภูเก็ต เดินทางมายังพื้นที่ กทม. หากจะกักกันผู้เดินก็สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นการเดินทางออกมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สามารถออกคำสั่งตามเห็นสมควรได้

“ขณะนี้เป็นห่วงอยู่เพียงไม่กี่จังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เคยมีการระบาดต่อเนื่องมาก่อน ซึ่งตอบค่อนข้างยากว่า ผู้ป่วยเกลี้ยงหมดหรือยัง หรือว่ามีผู้ป่วยเหลืออยู่แต่ว่าเราหาไม่เจอ ไม่ว่าจะหาด้วยวิธีไหนก็หาไม่เจอ ลักษณะเช่นนี้ พื้นที่ที่เคยมีผู้ป่วยต่อเนื่องในระยะหนึ่ง ผู้ป่วยอาจจะไม่เกลี้ยง คงจะมีผู้ป่วยหลงอยู่บ้างนิดหน่อย เช่น จ.ภูเก็ต ที่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ยังมีรายผู้ป่วยอยู่ 4 ราย ตามหลักการจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง เดินทางไปยังจังหวัดอื่นแล้วมีการกักกันก็เป็นเรื่องที่ดี และสมเหตุสมผล ดังนั้นการเดินทางยังคงต้องเป็นเรื่องที่ระมัดระวังอยู่ อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก ” นพ.ธนรักษ์กล่าว