ประมงอ่วมพิษโควิด คนงานหาย 5 หมื่น ไฟเขียวรับแรงงานข้ามชาติขึ้นเรือ

TO GO WITH AFP STORY 'Thailand-trafficking-rights-Myanmar-Cambodia,FEATURE' by Kelly Macnamara Photo taken on September 1, 2011 shows migrant laborers sorting fish as they work on a Thai fishing boat in Sattahip, Thailand's Rayong province. Thousands of men from Myanmar and Cambodia set sail on Thai fishing boats every day, but many are unwilling seafarers -- slaves forced to work in brutal conditions under threat of death. AFP PHOTO / Nicolas ASFOURI (Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

โควิด-19 ออกฤทธิ์ลามอุตสาหกรรมประมง แรงงานไทย-ต่างด้าวหาย 5 หมื่นคน ล่าสุดกรมประมงปลดล็อกประกาศตามมาตรา 83 หลังลากยาวมาตั้งแต่ พ.ย. 2562 ให้ต่างด้าวทำงานบนเรือได้ มีผล 1 พ.ค.-30 ก.ย. พร้อมชงรองนายกฯประวิตร ช่วยกระทุ้งเงินกู้ 1 หมื่นล้าน ล่าสุดออกประกาศดึงคนตกงานมาทำประมง 22 จังหวัดชายฝั่งด่วน

นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุด นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ลงนามในประกาศตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานบนเรือประมงไทย มีระยะเวลาการขึ้นทะเบียนนาน 5 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึง 30 ก.ย. 2563

ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่จะขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานบนเรือประมงไทยจะมีระยะเวลาการทำงาน 1 ปี หลังจากนั้นต้องไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (MOU) มีระยะเวลาการทำงานในไทยต่ออีก 2 ปี

“ช่วงนี้แรงงานต่างด้าวที่จะทำงานในไทยในรูปแบบ MOU รัฐต่อรัฐ คงลำบาก เพราะมีการปิดด่านพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน คงต้องให้แรงงานต่างด้าวในไทยเท่านั้นมาขึ้นทะเบียนตามมาตรา 83 ได้ ซึ่งแนวโน้มคงมาขึ้นทะเบียนไม่มากนัก ทางสมาคมจึงได้เสนอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ช่วยจัดหาแรงงานไทยที่ว่างงานมากช่วงนี้มาทำงานบนเรือประมง จำนวน 5 หมื่นคน”

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ชาวประมงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ การสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยรัฐชดเชยอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ที่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำ และการให้ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ปีการประมง 2563-2564 การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืดประเทศไทย และได้การติดตามข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

พร้อมทั้งกำชับให้เร่งติดตามความคืบหน้าแผนงานอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งให้คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงทั้งการผ่อนปรนด้านการขาดแคลนแรงงาน และมาตรการลดผลกระทบเพื่ออำนวยความสะดวกการทำประมงในภาพรวม ควบคู่กับการคงประสิทธิภาพการควบคุมไม่ให้มีการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป รวมถึงให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในแรงงานอุตสาหกรรมประมงอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาประมงครอบคลุมทั้งระบบและยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ทางกรมประมงได้ออกประกาศวาระด่วนให้แรงงานไทยที่ไม่มีงานทำ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้มาทำงานในกิจการประมงทะเล เนื่องจากเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ให้เร่งติดต่อกลุ่มกิจการแรงงานในภาคประมง กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงแรงงานได้สนับสนุนข้อเสนอของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ให้ใช้อำนาจมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง และได้ทำหนังสือถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 แล้ว โดยมาตรา 83 มีสาระสำคัญว่า แรงงานประจำเรือที่ไม่มีสัญชาติไทยต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และต้องได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว แต่ “เพื่ออำนวยความสะดวก” ให้อธิบดี (ประมง) มีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าท่า ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยในการออกหนังสือคนประจำเรือ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติในการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่จะทํางานในเรือประมงได้ชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมีอํานาจเช่นเดียวกับนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทํางานของคนต่างด้าวในการอนุญาตให้คนต่างด้าวนั้นทํางานในเรือประมงที่จะออกไปทําการประมงในทะเล โดยมีเงื่อนไขว่า แรงงานประมงต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานจะต้องมีหนังสือคนประจำเรือ หรือ sea book เป็นใบอนุญาตทำงานบนเรือประมง