บัณฑูร ล่ำซำ เทียบให้เห็นผลกระทบ โควิด กับ ต้มยำกุ้ง พร้อมแนะทางรอดเศรษฐกิจ

นาย บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยเป็นครั้งแรกหลังลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 ว่าโรคระบาด โควิด ครั้งนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งพอสมควร

ดังนั้นวิกฤตครั้งนี้ต่อให้เกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากการที่ผู้คนทำงานก็ไม่ได้ตามปกติค้าขายไม่ได้ตามปกติแต่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับมือได้ แม้ว่าธนาคารจะสูญเสียกำไรไปบ้าง แต่เป็นเรื่องที่รับได้ ถ้าไม่ได้มีทุนสำรองไว้เลย ก็อาจจะเดือดร้อน

ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือการฟื้นฟู โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือเยียวยาเต็มที่ ทั้งผู้ประสบความเดือดร้อนที่ตกงาน ทั้งผู้ประกอบการ ก็สามารถที่จะพึ่งพิงงระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้ขั้นหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าโรคนี้จะลากยาวแค่ไหน เพราะถ้าลากยาวผลกระทบทางเศรษฐกิจก็มาก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเตรียมมาตรการรองรับที่ดี

รัฐบาลเองก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเยียวยาเพื่อรักษาเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดียอมรับว่าหลังจากนี้ฐานะการเงินของทั้งรัฐบาล ระบบการเงินและธนาคารพาณิชย์ก็จะเริ่มตึงตัวขึ้น

ดังนั้นหลังจบวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ก็ต้องมีการตั้งรับกับอีกว่าจะกลับมาทำแบบเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว ซึ่งเงินลงทุนยังพอจะหาได้ เงินสินเชื่อก็ยังพอจะหาได้ แต่จะให้ประชาชนคนไทยทำมาหากินประเภทใด ซึ่งเป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่

โควิด กับ ต้มยำกุ้ง
สำหรับตนมองว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เป็นพายุที่ก่อตัวอีกแบบหนึ่ง นั่นก็คือพายุของความที่ไม่สามารถจะแข่งขันกับนานาประเทศได้ ดังนั้นความรู้แบบเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเป็นความรู้ใหม่ และด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ทั้งงบสนับสนุนในเรื่องของการวิจัยก็จะถดถอย แต่อย่างไรก็ดีประเทศจะไม่มีการวิจัยเลยไม่ได้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ต้องมีงบในการทำวิจัย

นายบัณฑูร ยังเปรียบเทียบระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้งกับโรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ว่า แตกต่งต่างกัน โดยวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นเรื่องความโลภของมนุษย์ที่เกินพอดี สร้างความเสียหายและเจ็บปวดต่อชีวิตมนุษย์ ส่วนโรคระบาดโควิด-19 จะโทษมนุษย์โดยตรงไม่ได้

แต่ก็สร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์เช่นเดียวกันเกิดการหยุดชะงักของการทำมาหากิน ทำให้มีกินน้อยลงไปชั่วคราว และหวังว่ามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลจะช่วยได้เป็นลำดับ โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อจะผ่านพันวิกฤตไปให้ได้