“หมอเลี๊ยบ” ชวนทุกคน “เฟสชิลด์ถ้วนหน้า” ชี้ ช่วยป้องกันทั้ง “แพร่” และ “รับ” เชื้อโควิด

วันที่ 31 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขยุครัฐบาลไทยรักไทย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์เฟสชิลด์ในการป้องกันท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า

เฟสชิลด์ถ้วนหน้า :
หน้ากากอนามัยเพียงป้องกันการ”แพร่”เชื้อ
Face Shield ป้องกันการ”แพร่”และ”รับ”เชื้อ


1.โรคโควิด-19 (ซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆว่า โรคโควิด) ทำให้มีผู้ป่วย 785,807 คน ผู้เสียชีวิต 37,820 คน (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 เวลา 11.43 น.) ทำให้เกิดความทุกข์แก่ประชาชน 200 ประเทศ และเศรษฐกิจโลกพังทลายลง
.
2. การรับมือโรคโควิดด้วยการเตรียมการรักษาพยาบาลให้พร้อม ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ไม่มีทางที่เตียงผู้ป่วย, ห้อง ICU, ยา, เครื่องช่วยหายใจ, ชุดป้องกัน PPE, หน้ากาก N95 จะสำรองได้มากพอ และที่สำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์ จะไม่เพียงพอและรับมือไม่ไหว เมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลายหมื่นถึงเป็นแสน
.
3. การควบคุมโรคโดยการคัดกรองหาผู้ป่วยและกลุ่มผู้เสี่ยงติดโรคเพื่อตัดวงจรการระบาดนั้น ทำได้ง่ายกว่าและใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการมัวแต่ตั้งรับ รอผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาพยาบาล ดังตัวอย่าง ความสำเร็จในการชะลอการระบาดของโรคด้วยการตรวจคัดกรองกว่า 300,000 คนในเกาหลีใต้
.
อย่างไรก็ตาม การควบคุมโรคยังต้องทุ่มเทคนและงบประมาณจำนวนไม่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการป้องกันโรคซึ่งถ้าร่วมใจทำกันทุกคนหรือเป็นส่วนใหญ่ จะได้ผลมากกว่า และใช้เงินน้อยกว่า
.
4. การป้องกันโรคโควิดที่ใช้อยู่ เช่น ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนประจำตัว ล้างมือ พร้อมกับการห้ามนักเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้ามา ใช้ได้ผลในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ แต่ในหลายประเทศต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นกว่านั้น เช่น Social Distancing, Lockdown ทั้งเมืองและประเทศ เช่น จีน อิตาลี สเปน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อินเดีย และประเทศไทย
.
บางประเทศใช้มาตรการเข้มข้นช้า ความรุนแรงของปัญหาก็มาก บางประเทศตัดสินใจใช้มาตรการเข้มข้นเร็ว ปัญหารุนแรงน้อยกว่ามาก
.
5. เลขาธิการองค์การสหประชาชาติบอกว่า Social Distancing เป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” ไม่สามารถใช้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ แต่ต้องระดมตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยให่ได้มากที่สุด
.
ส่วน Lockdown เมืองและประเทศ ทำให้เศรษฐกิจชะงักงันอย่างยิ่ง และหากดำเนินการยืดเยื้อ ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจมโหฬารเกินคาดคิด
.
6. “ซื้อเวลา” เพื่อรออะไรหรือ…
เพื่อกดจำนวนผู้ป่วยให้เกิดอาการป่วยแล้วทยอยมารักษาทีละน้อย ไม่เกินกำลังในการรักษาพยาบาล (Flatten The Curve), เพื่อรอวัคซีน, หรือเพื่อรอภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)
.
แต่ที่รอทั้งหมด อาจเป็นความหวังที่เลือนหายไปในสายลมก็ได้ เพราะเริ่มมีข้อมูลออกมาว่า ภูมิคุ้มกันของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิดอาจหมดไปใน 8-9 เดือน วัคซีนอาจไม่มีจริง หรือถ้ามี ก็ป้องกันโรคได้เพียงระยะสั้นๆ
.
7. เราจึงต้องหันมาเน้นการป้องกันโรคโควิดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง
.
เมื่อเรารู้ว่า ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทาง ตา จมูก และปาก เราจึงได้ส่งเสริมการใช้หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
.
แต่เราฉุกคิดไหมว่า หน้ากากอนามัยปกป้องเพียงจมูกและปาก แต่กลับปล่อยทิ้งดวงตาและใบหน้าเหนือหน้ากากอย่างเปิดเผย ไวรัสที่ติดมากับละอองฝอยของสารคัดหลั่ง สามารถผ่านเข้าไปในดวงตาหรือตกค้างที่ผิวหน้า ซึ่งหากเราขยี้ตา, ขยับหน้ากาก หรือสัมผัสใบหน้าแล้วหยิบอาหารเข้าปาก ไวรัสก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้
.
8. ถ้าเช่นนั้น ทำไมการใช้หน้ากากอนามัยจึงดูราวกับว่า ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไตัหวัน ได้จริง ขณะที่ประเทศในยุโรปและอเมริกา ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่นิยม หรือไม่ยินยอมใส่หน้ากากอนามัย มีจำนวนผู้ป่วยสูงมาก
.
9. เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่า แม้หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการ “รับ” เชื้อได้เพียง 50-67% ( “ป้องกันเพียงครึ่งหน้า” หรือ “ป้องกันจมูกและปาก ไม่ป้องกันดวงตา”) แต่ป้องกันการ “แพร่” เชื้อได้ 95-100% เพราะถ้าผู้ป่วย (ไม่ว่ามีหรือไม่มีอาการ) ใส่หน้ากากอนามัย แล้วพูด จาม หรือ ไอ สารคัดหลั่งจะไม่สามารถทะลุผ่านหน้ากากอนามัยออกมาแล้วไปติดต่อผู้อื่นได้
.
ถ้าผู้ป่วยทุกคนทั้งมีและไม่มีอาการ ใส่หน้ากากอนามัย โรคย่อมหยุดการระบาดลง
.
แต่เรารู้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ป่วยทุกคนจะใส่หน้ากาก เพราะเขาไม่คิดว่าเขาป่วย ในระยะเวลาฟักตัวของเชื้อ ผู้รับเชื้อยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ
.
ดังนั้น การป้องกันโรคโดยใส่เพียงหน้ากากอนามัย ต่อให้แนบชิดจมูก หุ้มคางจนสนิทเพียงใด ก็ป้องกันการ “รับ” เชื้อไม่ได้ เพราะเปิดดวงตาและครึ่งใบหน้าด้านบนอย่างโจ่งแจ้ง
.
การใส่เพียงหน้ากากอนามัยจึงช่วยลดเพียงด้านการ “แพร่” เชื้อ แล้วต้องอาศัย Social Distancing ช่วยลดด้านการ “รับ” เชื้อ เช่นให้อยู่ห่างกัน 2 เมตร เพื่อลดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย
.
ที่น่าเศร้าใจคือ เมื่อเกิดการระบาดใหม่อีกรอบดังที่กังวลว่าจะเกิดอีกในจีน เราก็ต้องทำ Social Distancing กันอีก
.
10. ในอีกด้านหนึ่ง ผมเห็นว่า Face Shield คลุมทั้งใบหน้า ตา จมูก และปาก จึงป้องกันมือที่อาจมีไวรัส (ไม่ได้ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล) แล้วมาสัมผัสตา จมูก และปากโดยไม่ตั้งใจได้ 100%
.
แต่แบบที่ใช้กันในปัจจุบัน ผมยังมีข้อสงสัยว่า จะป้องกันการ “รับ” ละอองฝอยขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอนที่มีไวรัส จากการ พูด ไอ และจาม ของผู้ป่วย (ทั้งที่มีและไม่มีอาการ) ในระยะ 2 เมตรได้ดีเพียงใด
.
เพราะละอองฝอยอาจเล็ดลอดมาทางด้านบน ด้านข้าง และใต้คางได้บ้าง ผมประเมินเอาเอง (อาจผิดหรือถูกก็ได้) ว่า Face Shield ป้องกันละอองฝอยได้ประมาณ 75-80%
.
ในทางกลับกัน ถ้าผู้ป่วย (ทั้งที่มีและไม่มีอาการ) ใส่ Face Shield เมื่อเขาพูด ไอ และจาม สารคัดหลั่งที่พุ่งออกมาย่อมปะทะกับแผ่นพลาสติกใสและหยุดลงเกือบหมด ดังนั้น Face Shield ควรป้องกันการ “แพร่” ไวรัสได้ 85-90%
.
11. ในชั้นนี้ ผมขอเสนอว่า เราต้องพัฒนา Face Shield ให้มีดีไซน์ใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันทั้ง การ “รับ” และ “แพร่” เชื้อให้ได้ 95-100%
.
ระหว่างนี้ ถ้าเราใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว ก็ควรใส่ Face Shield เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการ “รับ” เชื้อไวรัส
.
ถ้าเราไม่มีหน้ากากอนามัย หรือหาซื้อไม่ได้ หรือไม่สะดวกในการใส่หน้ากากอนามัย ก็ควรซื้อหรือทำ Face Shield เองไว้ใช้ โดยดูวิธีทำจากคลิปใน Youtube ซึ่งมีอยู่มากมาย
.
12. เมื่อสังคมใดใส่ Face Shield และหน้ากากอนามัยเกิน 50% ร่วมกับการล้างมือ กินร้อน ช้อนประจำตัว โรคโควิดจะหยุดระบาดลง ตามหลักการภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)
.
#Faceshield4all #เฟสชิลด์ถ้วนหน้า