อุตสาหกรรมแฟชั่นโลกวิกฤต เจอพิษ “โควิด-19” ระบาด

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังออกฤทธิ์อยู่ในตอนนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ไม่ต่างจากภาคธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบในหลายแง่มุม ด้วยความที่การระบาดกระจายตัวทั่วโลก ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้คนต้องระมัดระวังมากขึ้น ทั้งระวังการออกจากบ้านมาช้อปปิ้ง และระวังการใช้เงินมากกว่าในภาวะปกติ

จากคลื่นลูกแรกของการระบาดในจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นได้รับผลกระทบหนักแล้ว เพราะชาวจีนเป็นผู้ซื้อกลุ่มสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น แล้วคลื่นลูกที่สองที่มาซ้ำให้อ่วมหนักไปอีกก็คือการระบาดหนักในหลายประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งหนึ่งในประเทศที่สถานการณ์หนักที่สุดคือ อิตาลี เมืองหลวงแห่งแฟชั่นซะด้วย

จากปัญหาการระบาดของไวรัสที่ว่านี้ มีการคาดการณ์โดยสำนักข่าว The Business of Fashion ว่า ในปีนี้ธุรกิจภาคสินค้าแฟชั่นแบรนด์หรูอาจสูญรายได้รวมกว่า 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว

ท่ามกลางสถานการณ์นี้ นิตยสาร GQ สหราชอาณาจักร เขียนบทความวิเคราะห์ผลกระทบอุตสาหกรรมแฟชั่นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ดังนี้

1.ฤดูคั่นเวลาถูกยกเลิก ทำรายได้หาย : ฤดูคั่นเวลา (resort season หรือ cruise season) เป็นหนึ่งในฤดูกาลทางแฟชั่นที่สร้างรายได้ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ได้มาก เพราะเป็นการออกคอลเล็กชันที่เหล่าบรรณาธิการแฟชั่น ผู้ทรงอิทธิพลในวงการ และลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ แต่ด้วยสถานการณ์ไวรัส หลายแบรนด์ได้ยกเลิกคอลเลกชั่นฤดูคั่นเวลาเป็นที่เรียบร้อย ทั้ง กุชชี (Gucci), เบอร์เบอร์รี (Burberry) และพราดา (Prada)

ถึงแม้ว่าฤดูคั่นเวลานี้จะไม่ได้มีทิศทางทางแฟชั่นเท่าฤดูกาลปกติ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่บริษัทต่าง ๆ จะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงสามารถเคลียร์ของในสต็อกได้ด้วย ปีนี้แบรนด์ต่าง ๆ ก็ต้องพลาดโอกาสกันไป

2.อนาคตการจัดแฟชั่นโชว์ ต้องคิดทบทวนหนัก : สถานการณ์ไวรัสทำให้เหล่าดีไซเนอร์ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าจำเป็นต้องจัดงานแสดงแฟชั่นเพื่อขายสินค้าและสร้างแบรนด์หรือไม่ ถึงขณะนี้ มีบางแบรนด์ยกเลิกการแสดงไปแล้ว บางแบรนด์เปลี่ยนมาถ่ายทอดสดการแสดงแฟชั่นทางอินเทอร์เน็ต แต่บางแบรนด์ก็ยืนยันที่จะจัดงานตามเดิม

A general view of Montenapoleone district on March 11, 2020 in Milan, Italy. The Italian Government has taken the unprecedented measure of a nationwide lockdown, limiting people to move only for work or health reasons, in an effort to fight the world’s second-most deadly coronavirus outbreak after China. (Photo by Mairo Cinquetti/NurPhoto via Getty Images)

แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) บรรณาธิการแห่งนิตยสารโว้ก (Vogue) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า “ในช่วงเวลาวิกฤติ เราต้องคิดใหม่”

3.แฟชั่นสโตร์มีอุปสรรคในการวื้อสินค้าเข้าร้าน : ในโลกธุรกิจแฟชั่น เหล่าดีไซเนอร์ไม่ได้ไปยุโรปเพียงเพื่อแสดงเสื้อผ้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไปเพื่อขายของให้บรรดาแฟชั่นสโตร์ในยุโรปด้วย แต่นักออกแบบดีไซเนอร์จำนวนหนึ่งค้นพบว่าฤดูกาลนี้พวกเขาสามารถทำยอดขายได้โดยไม่ต้องเจอกับผู้ซื้อตัวต่อตัว แต่สามารถขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ บรรดาผู้ประกอบการ-นักจัดหาสินค้าเข้าร้านจำนวนหนึ่งก็พยายามสั่งซื้อสินค้าที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสของจริง ส่วนฝั่งผู้ค้าส่งก็กำลังคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรในฤดูกาลหน้า

4.การช้อปปิ้งออนไลน์ได้รับผลกระทบ ที่ปรึกษาด้านการจัดการของบริษัท Bain พบว่า หลักจากทางการจีนประกาศปิดประเทศ การซื้อขายทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Tmall เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ยอดซื้อขายสินค้าแฟชั่นกลับลดลง สอดคล้องกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของซาร์ส (SARS) ที่ส่งผลต่อยอดขายสินค้าแบรนด์เนมเช่นเดียวกัน แต่หลังจากสามารถควบคุมเชื้อได้ ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมก็พุ่งสูงขึ้น

The city center of Milan is completely deserted, after the order to stay home to try to slow down the infection of the Corona Virus.
Around mostly police and caribinieri who carry out checks on the territory.
Milan, Italy, March 11, 2020. (Photo by Fabrizio Di Nucci/NurPhoto via Getty Images)

บทวิเคราะห์ของ GQ พูดถึงภาพกว้าง ๆ ของอุตสาหกรรมแฟชั่นเท่านั้น แต่ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มเข้ามา และจะมีผลระทบต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นโลกอย่างมากก็คือ สถานการณ์ในอิตาลีที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่องจนต้องปิดประเทศไปแล้ว

ในเมื่อมิลาน มหานครของอิตาลีเป็นหนึ่งในเมืองหลวงแห่งการแฟชั่นโลก ดังนั้นการที่อิตาลีปิดประเทศ อุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งโลกจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่พ้นแน่

มีข้อมูลจาก The Wall Street Journal ระบุว่า เฉพาะประเทศอิตาลีมีมูลค่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอมากถึง 107,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท)

The Business of Fashion รายงานว่า 60% ของบริษัทแฟชั่น เสื้อผ้า สิ่งทอ ในอิตาลีตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แบรนด์ดังหลายแบรนด์มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองมิลาน ไม่ว่าจะเป็น พราดา (Prada), อาร์มานี (Armani) และเวอร์ซาเช (Versace) แม้กระทั่งแบรนด์เนมจากต่างแดนอย่าง หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) และสเตลลา แม็กคาร์ตนีย์ (Stella McCartney) ยังต้องพึ่งพาโรงงานที่อยู่ทางตอนเหนือของอิตาลีในการผลิตเสื้อผ้า ฉะนั้นการที่เมืองในทางตอนเหนือถูกปิดไปก่อนจะมีการปิดทั้งประเทศนั้น แบรนด์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ตอนเหนือของอิตาลีนั้นได้รับผลกระทบไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนทางตอนใต้ของประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะมีผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและสายการผลิตจิวเวลรี ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องหนังเป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้แบรนด์หรูต่าง ๆ

สถานการณ์การระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้สั่งซื้อทั่วโลกยกเลิกออร์เดอร์ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเสื้อผ้าทั้งระบบ ตั้งแต่บริษัทที่ผลิตผ้า ไปจนถึงบริษัทผลิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เพิ่งผ่านเดือนแห่งการแสดงแฟชั่นโชว์ Spring/Summer Collection มา ผลกระทบก็ยิ่งหนัก เพราะบรรดาบริษัทแบรนด์เนมต่าง ๆ ต้องหาวิธีการจัดส่งและขายของในคลังที่พวกเขาลงทุนผลิตไปแล้วในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้

คนในแวดวงแฟชั่นต่างก็เป็นกังวลกับสาถนการณ์ และยอมรับว่านี่คือวิกฤติของอุตสาหกรรมนี้ ในรายงานของ The New York Times มีถ้อยคำของปาสคาล โมแรนด์ (Pascal Morand) ประธานบริหารองค์กรที่จัดงานปารีส แฟชั่น วีก แสดงความกังวลต่อสถานการณ์นี้ว่า “มันเป็นความไม่แน่นอน และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยาวนานแค่ไหน” ขณะที่ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์หลายคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าออเดอร์ตกลงไปมาก