15 มีนาคม วันกำเนิด “ราชกิจจานุเบกษา” สิ่งพิมพ์ราชการที่เราได้ยินชื่อ คุ้นหู ในยุคนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งโรงพิมพ์หลวง ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเดือนห้า ปีมะเมีย เป็นปีที่แปดในรัชกาลที่ ๔ หรือวันที่ ๑๕ มีนาคม จ.ศ. ๑๒๒๐ ( พ.ศ. ๒๔๐๑ ) เรียกว่า “โรงอักษรพิมพการ” ทำหน้าที่ผลิต ข่าวสารของทางราชการเพื่อเผยแพร่ให้ราษฎรได้ทราบทั่วถึงกัน โดยเริ่มพิมพ์หมายประกาศต่าง ๆ มีลักษณะอย่างหนังสือพิมพ์ข่าว ใช้ชื่อว่า “ราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งยังคงมีอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา คือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

“ราชกิจจานุเบกษา” (อังกฤษ: Royal Thai Government Gazette, เรียกสั้น ๆ ว่า Government Gazette) ถือว่าเป็น สิ่งพิมพ์ของราชการฉบับแรก นั่นเอง จัดเป็นสิ่งพิมพ์ประเภท ประกาศทางราชการ ที่แจกให้ ไม่คิดสตางค์ จึงไม่ค่อยมีใครเก็บไว้ หนังสือนี้ออกหลัง “ หนังสือจดหมายเหตุ ( ฉบับภาษาไทย ) หรือ The Bangkok Recorder ( ฉบับภาษาอังกฤษ ) ” ของหมอบลัดเล ซึ่งออกเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม จ.ศ. ๑๒๐๖ ( พ.ศ. ๒๓๘๗ ) หนังสือพิมพ์เล่มแรกที่ฝรั่งตีพิมพ์ขึ้นในเมืองสยาม

พระราชปรารภให้ตั้งการตีพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา

พระราชปรารภ ซึ่งปรากฏตามประกาศเรื่องออกหนังสือ ราชกิจจานุเบกษา ฉบับแรก (แปลงคำอ่านเป็นภาษาปัจจุบัน) ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก (พ.ศ. ๒๔๐๑)

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิ ราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้า แผ่นดินสยาม ทรงพระราชดำริตริตรองในการจะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อย สำเร็จประโยชน์ทั่วถึงแลแน่นอนให้ดีขึ้นไปกว่าแต่ก่อน จึงทรงพระราชวิตก ว่าราชการต่าง ๆ ซึ่งสั่งด้วยบัตรหมายแก่กรมวังให้สัสดีแลทะลวงฟันเดินบอก ตามหมู่ตามกรมต่างๆ นั้นก็ดี การที่บังคับนายอำเภอมีหมายป่าวประกาศแก่ ราษฎรในกรุงก็ดี การที่มีท้องตราไปให้เจ้าเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ มีหมายให้ กำนันรั้วแขวงอำเภอประกาศแก่ราษฎรในแขวงนั้นๆ ก็ดี พระราชบัญญัติใหม่ๆ ตั้งขึ้นเพื่อจะห้ามการที่มิควร แลบังคับการที่ควรก็ดี การเตือนสติให้ระลึก แลถือพระราชกำหนดกฎหมายเก่าก็ดี ตั้งขึ้นแลเลิกทิ้งอากรภาษีต่างๆ แล พิกัดภาษีนั้นๆ แลลดหย่อนลงหรือเพิ่มขึ้นพิกัดของในภาษีนั้นๆ ก็ดี การกะเกณฑ์หรือขอแรงแลบอกบุญก็ดี ว่าโดยสั้น โดยย่อเหตุใดๆ การใดๆ ที่ควรข้าราชการทั้งปวง หรือราษฎรทั้งปวงจะพึงทราบทั่วกันนั้นแต่ก่อนเป็น แต่บัตรหมายแลทำคำประกาศ เขียนเส้นดินสอดำ กระดาษส่งกันไปส่งกันมา แลให้ลอกต่อกันไปผิดๆ ถูกๆ แลเพราะฉบับหนังสือนั้นน้อย ผู้ที่จะได้อ่าน ก็น้อยไม่รู้ทั่วถึงกันว่า การพระราชประสงค์ และประสงค์ของผู้ใหญ่ในแผ่นดิน จะบังคับมาแลตกลงประการใด ข้าราชการทั้งปวง แลราษฎรทั้งปวงก็ไม่ทราบ ทั่วกัน ได้ยินแต่ว่ามีหมายว่าเกณฑ์ว่าประกาศว่าบังคับมา เมื่อการนั้นเกี่ยวข้อง กับตัวใครก็เป็นแต่ถามกันต่อไป ผู้ที่อ่านต้นหมายต้นท้องตรานั้นน้อยตัว ถึงจะได้อ่านก็ไม่เข้าใจ เพราะราษฎรเมืองไทยผู้ที่รู้หนังสือนั้นน้อยกว่าที่ไม่รู้ คนไพร่ในประเทศบ้านนอก หนังสือก็อ่านไม่ออก ดวงตราของขุนนางใน ตำแหน่งซึ่งจะบังคับราชการเรื่องอะไร จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้จัก ดูสักแต่ว่าเห็น ดวงตราที่ตีมาด้วยชาด แลเส้นแดงๆ แล้วก็กลัว ผู้ที่ถือมาว่ากระไรก็เชื่อ เพราะฉะนั้นจึงมีคนโกงๆ คดๆ แต่งหนังสือเป็นดังท้องตราบัตรหมายอ้างสั่ง วังหลวงแลวังหน้า แลเจ้านาย แลเสนาบดีที่เป็นที่ราษฎรนับถือยำเกรงแล้ว ก็ว่าการบังคับไปต่างๆ ตามใจตัวปรารถนา ด้วยการที่มิได้เป็นธรรม แลทำให้ ราษฎรเดือดร้อน และเสียพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน แลพระนามเจ้านาย แลชื่อขุนนางไป เพราะฉะนั้น บัดนี้ ทรงพระราชดำริจะบำบัดโทษต่างๆ ดังว่ามาแล้วนี้ทุกประการ จึงโปรดให้ตั้งการตีพิมพ์หนังสืออย่างหนึ่ง มีชื่อโดย ภาษาสันสกฤตว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา แปลว่า หนังสือเป็นที่เพ่งดู ราชกิจ เป็นรูปพระมหามงกุฎ แลฉัตรกระหนาบสองข้างดวงใหญ่ ตีในเส้นดำ กับตัวหนังสือนำหน้าเป็นตัวอักษรตัวใหญ่ว่า ราชกิจจานุเบกษา อยู่เบื้องบน บรรทัดทุกฉบับเป็นสำคัญ แจกมาแก่คนต่างๆ ที่ควรจะรู้ทุกเดือนทุกปักษ์ ตั้งแต่ เดือนห้า ปีมะเมีย เป็นที่แปดในรัชกาลอันเป็นปัจจุบันนั้นไป หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา คือการใดๆ ซึ่งได้มีท้องบัตร ใบตราแลบัตรหมาย แลประกาศด้วย หนังสือเขียนเส้นดินสอดำประทับตราตามตำแหน่งตาม ธรรมเนียมเท่านั้น ซึ่งได้มีแล้วในปักษ์นั้น หรือปักษ์ที่ล่วงแล้วในเดือนนั้น หรือเดือนที่ล่วงแล้ว ก็จะเก็บเอาความมาว่าแต่ย่อๆ ในสิ่งซึ่งเป็นสำคัญ เพื่อจะให้เป็นพยานแก่ท้องบัตรใบตราแลบัตรหมายคำประกาศ ซึ่งมีไปแล้ว ก่อนนั้นเพื่อจะให้คนที่ได้อ่านหนังสือก่อนเชื่อแท้แน่ใจไม่สงสัย ที่ไม่เข้าใจ ความจะได้เข้าใจ ผู้ใดไม่รู้ความในหนังสือท้องบัตรใบตราบัตรหมายก่อน จะได้รู้ถนัด

อนึ่ง ถ้าเหตุแลการในราชการแผ่นดินประการใดๆ เกิดขึ้น พระบาท สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลเสนาบดีพร้อมกันบังคับไปอย่างไร บางทีก็จะเล่า ความนั้นใส่มาในราชกิจจานุเบกษานี้บ้าง เพื่อจะได้รู้ทั่วกัน มิให้เล่าลือผิดๆ ไปต่างๆ ขาดๆ เกินๆ เป็นเหตุให้เสียราชการและเสียพระเกียรติยศแผ่นดินได้

หนังสือราชกิจจานุเบกษานี้ เมื่อตกไปอยู่กับผู้ใด ขอให้เก็บไว้อย่า ฉีกทำลายล้างเสีย เมื่อได้ฉบับอื่นต่อไปก็ให้เย็บต่อๆ เข้าเป็นสมุดเหมือน สมุดจีน สมุดฝรั่ง ตามลำดับตัวเลขที่หมาย หนึ่ง สอง สาม สี่ ต่อๆ ไป ซึ่งมีอยู่ทุกหน้ากระดาษนั้นเถิด ขอให้มีหนังสือราชกิจจานุเบกษานี้เก็บไว้ สำหรับจะได้ค้นดูข้อราชการต่างๆ ทุกหมู่ทุกกรมข้าราชการ แลทุกหัวเมือง โดยประกาศนี้ เทอญ

ประกาศมา ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะเมีย ยังเป็น นพศก เป็นวันที่ ๒๔๙๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

ขุนปฏิภาณพิจิตร ขุนมหาสิทธิโวหาร กรมพระอาลักษณ์เป็นผู้รับรับสั่ง”