ที่ประชุม 3 ฝ่ายเคาะซักฟอก 24 -26 ก.พ. ฝ่ายค้านยอมถอย ไม่อ่านบิ๊กตู่ ‘กร่าง-เถื่อน’ ออกไมค์

ที่ประชุม 3ฝ่าย เคาะซักฟอก 24 -26 ก.พ. ลงมติอาจเป็น 27-28 ก.พ. ด้าน “สมพงษ์” บอก เอาใจรบ.ไม่พูดเนื้อหาในญัตติที่มีถ้อยคำรุนแรง

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) วิปฝ่ายค้าน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำหนดวันประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้ วิปรัฐบาลที่เข้าประชุม อาทิ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐ ส่วนตัวแทน ครม.ที่มาร่วมประชุม คือ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วน 6 พรรคฝ่ายค้านนำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ โดยใช้เวลาในการหารือร่วมกันประมาณ 30 นาที

จากนั้นนายวิรัชให้สัมภาษณ์ว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี ไม่มีอะไร แม้เรื่องเปลี่ยนถ้อยคำ ที่นายสมพงษ์บอกจะปรับให้เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการประท้วง ทั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องวันอภิปราย จะมีการหารือกันอีกครั้ง โดยอาจเตรียมวันเพิ่มอีก 1 วัน จากเดิม 25-27 ก.พ. เพิ่มให้เป็นวันที่ 24 ก.พ. โดยให้เวลา 3 วัน แต่หากเสร็จใน 3 วันได้ก็จะดี ซึ่งสัดส่วนเวลาถือว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนจะย้ายมาเริ่มอภิปรายในวันที่ 19 ก.พ. ตามที่ฝ่ายค้านเสนอหรือไม่ เป็นข้อมูลที่มีการเสนอในที่ประชุม แต่ระหว่างช่วงวันที่ 19-21 ก.พ.รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมีกำหนดการทำงาน เช่นนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศจะเดินทางไปต่างประเทศ

ซึ่งคาดบ่ายนี้จะได้ข้อสรุปว่าจะอภิปรายวันใด ขณะที่ นายสมพงษ์กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับประธานสภาในเบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปเรื่องวันในการอภิปรายอย่างเป็นทางการ โดยมีการพิจารณา 2 แนวทาง คือ 1.เริ่มประชุมเพื่ออภิปรายตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. ไปจนกว่าจะอภิปรายเสร็จสิ้นกระบวนความ หรือ 2.เริ่มประชุมเพื่ออภิปรายตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. โยใช่เวลา 3 วัน ถ้าเสร็จก็ลงมติวันที่ 27 ก.พ.แต่หากอภิปรายไม่เสร็จใน 3 วัน ก็อภิปรายต่อในวันที่ 27 ก.พ.แล้วลงมติในวันที่ 28 ก.พ.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ โดยทางตัวแทนรัฐบาลจะนำกรอบเวลานี้ไปหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมต่อไป แล้วจะนำผลหารือดังกล่าวมาแจ้งต่อประธานสภาฯทราบอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า เนื่องจากในการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีผู้ขออภิปรายเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นข้อเสนอของรัฐบาลที่ให้เวลาอภิปรายวันที่ 25-27 ก.พ.นั้นฝ่ายค้านไม่มีทางยอมรับอย่างเด็ดขาด ถือเป็นการบีบกันเกินไป ส่วนในเรื่องการที่รัฐบาลขอให้แก้ไขเนื้อหาญัตตินั้น ฝ่ายค้านได้ความชัดเจนจากประธานสภาฯแล้วว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขเนื้อหาในญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ถ้าจะให้เอาใจรัฐบาล ฝ่ายค้านก็พร้อมจะไม่อ่านเนื้อหาในญัตติในส่วนนั้น และคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพราะเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยาก เมื่อถามว่า หากอภิปรายในวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นวันประชุมวุฒิสภาที่มีประจำทุกวันจันทร์ และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อาจจะทับซ้อนกับการประชุมสภาที่มีการพิจารณาญัตติดังกล่าวได้

นายสมพงษ์กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของประธานสภาที่จะไปประสานงาน เพราเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายค้าน ด้านนายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ประธานสภาได้กล่าวในที่ประชุมร่วมกันสามฝ่ายวันนี้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด ดังนั้นหากรัฐมนตรีมีภารกิจก็ต้องไปดำเนินการให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้กระทบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้ วิปรัฐบาล ได้ยื่นเรื่องขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแก้ญัตติของฝ่ายค้านที่ขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยอ้างว่ามีการใช้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ รวมถึงมีคำถ้อยคำรุนแรง เช่น กร่าง เถื่อน ฉีกรัฐธรรมนูญ