ดัชนีเชื่อมั่นฯ ผู้ประกอบการ ไตรมาส 4 ฟื้นตัวเล็กน้อย แต่ยังกังวลการใช้จ่ายชะลอตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2562 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 51.1 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ ระดับ 51.0 โดยมีปัจจัยบวกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท มาตรการชิมช้อปใช้ เทศกาลปีใหม่ที่ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน แต่ยังมีปัจจัยลบคือ สถานการณ์ภัยแล้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การส่งออกหดตัว และค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ได้มีการสำรวจว่าปัจจุบันธุรกิจประสบกับปัญหาเรื่องใดบ้าง มีผู้ตอบแบบสอบถามว่า ต้นทุนในการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้น จากมาตรการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อลดลง ประกอบกับการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่อเที่ยวก็ปรับลดลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จากปัจจัยกระทบที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งในช่วงทำการสำรวจ ยังไม่สามารถตกลงการค้าร่วมกันได้ รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่ใช่เเพียงแค่ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวไทย ที่ระวังในการใช้จ่ายเท่านั้น รายได้ของธุรกิจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งประชาชนชะลอการใช้จ่ายในการซื้อของขวัญ กระเช้าปีใหม่ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของภาครัฐคือ โนกิ๊ฟ โพลีซี โดยคาดว่าหากนโยบายโนกิ๊ฟของรัฐบาล เปลี่ยนเป็นมีกิ๊ฟแต่จำกัดมูลค่าของขวัญไม่เกิน 3,000 บาท ก็น่าจะช่วยกระตุ้นและสร้างความคึกคักเพิ่มมากขึ้นได้ รวมถึงการแข่งขันทางการตลาดสูงขึ้น ทั้งการทำโปรโมชั่นและต้นทุนสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งยังขาดแรงงานที่มีทักษะในการปฎิบัติงานด้วย

“สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งรัดแก้ไขคือ ทำภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี อาทิ มาตรการชิมช้อปใช้ แคมเปญช้อปช่วยชาติ โดยเฉพาะหากสามารถทำให้เกิดช้อปปิ้งพาราไดซ์ขึ้น หรือจัดกิจกรรมและนิทรรศการในประเทศเพิ่มได้ จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดจะได้อานิสงค์ในภาพรวม ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคการค้าเติบโตตาม”นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลคือ ลดข้อจำกัดในการใช้บริการของมาตรการชิมช้อปใช้ อาทิ การเพิ่มพื้นที่การใช้บริการ และเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิ์ใช้มากขึ้น โดยหากรัฐบาลจะมีชิมช้อปใช้เฟส 4 ขึ้น และหากรัฐบาลเชื่อว่าผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดสามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องการให้เพิ่มพื้นที่บริการมากขึ้น และดึงนักท่องเที่ยวกระจายลงไปทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแบ่งจำหน่ายสินค้าจากส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน การจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ก็น่าจะช่วยประเทศได้ และอยากให้รัฐบาลเพิ่มการใช้บัตรสวัดิการแห่งรัฐ กระจายไปยังผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดแบบเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้มากขึ้น รวมถึงมาตรการนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีส่วนบุคคล ในลักษณะเดียวกันกับช้อปช่วยชาติ

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเทียวต่างชาติ เริ่มเห็นผลกระทบตั้งแต่มีกระแสข่าวออกมาว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่ารุนแรง ซึ่งต้องบอกว่าห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเป็นเป้าหมายในการใช้จ่ายของนักท่องเทียวต่างชาติ ทำให้เมื่อนักท่องเทียวต่างชาติหายไป โดยเฉพาะนักท่องเทียวชาวจีน ก็เริ่มเห็นภาพการเข้ามาและใช้จ่ายน้อยลง แต่หากประเมินจากคนไทยก็อาจจะไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก ทำให้ภาพรวมตามแหล่งท่องเที่ยวที่รอรับต่างชาติมากๆ จะชะลอตัวลง อาทิ หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ โดยทิศทางในช่วงต่อจากนี้ มองว่าผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดยังต้องเหนื่อย และต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก เนื่องจากขณะนี้อยู่ในภาวะเอาตัวรอดได้ เพราะมีพืนฐ่นแข็งแก่ง แต่ในระยะต่อไป เรื่องความรู้สึกหรือบรรยากาศการกลับมาใช้จ่ายคงยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นง่ายๆ ทำให้ผู้ประกอบการต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน โดยหากรัฐบาลสามารถช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งการจับจ่ายในประเทศเอง และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยจากนี้คงต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น หากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาน้อยลง ซึ่งหากรัฐบาลสามารถช่วย 2 ส่วนนี้ได้ สถานการณ์ในประเทศก็จะทยอยปรับตัวดีขึ้น

“ในขณะนี้มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4 กำลังจะออกมาแล้ว ซึ่งตวามจริงมองว่ามาตรการที่ภาครัฐควรออกมา และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ น่าจะเป็นในรูปแบบของแคมเปญช้อปช่วยชาติ ที่เคยออกมามากกว่า เนื่องจากเป็นการกระตุ้นถูกกลุ่มเป้าหมาย เพราะเข้าไปกระตุ้นกลุ่มผู้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้อยู่แล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้มีศักยภาพในการใช้จ่าย ทำให้แคมเปญนี้ได้รับการตอบรับที่ดีและได้ผลดีมากๆ ส่วนถามว่าทำไมมาตรการชิมช้อปใช้จึงไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ก็เพราะเข้าไปกระตุ้นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยแทน เป็นการกระตุ้นไม่ตรงจุด เพราะในเฟสแรกต้องนำเงิน 1,000 บาทไปให้ใช้ พอเฟสต่อมาไม่มีเงินให้แล้ว เปลี่ยนเป็นใช้เงินซื้อของก่อน และจะได้แคชแบ็คกลับมาตามหลัง ทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งปกติไม่ได้มีรายได้มากนัก ก็ไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร”นางศิริพรกล่าว