ไทยสมายล์เปิดแผนลดขาดทุน | ดัน “มาบตาพุด” ขึ้นท่าเรือระดับโลก | ทีเส็บดึงเอกชนเที่ยวในประเทศ

แฟ้มข่าว

พาณิชย์บุก 18 ประเทศลุยส่งออก

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการดูแลผลกระทบด้านการค้าอย่างใกล้ชิด ในระยะเร่งด่วนจะเร่งทำยอดส่งออกนำคณะไปขยายตลาดและการจัดกิจกรรมทางการค้าระหว่างประเทศในตลาดศักยภาพ ได้แก่ จีน อินเดีย (มุมไบ/เจนไน) ตุรกี และเยอรมนี โดยมีผลสำเร็จคือการลงนามเอ็มโอยู และการจัดกิจกรรมทางการค้าเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามและเร่งรัดการส่งมอบเพื่อผลักดันการส่งมอบในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ กระทรวงเตรียมแผนผลักดันการส่งออกปี 2563 โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้ารวมกว่า 18 ประเทศ ได้แก่ ตลาดเดิม เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหภาพยุโรป ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ ตลาดฟื้นฟู เช่น ตะวันออกกลาง ตลาดอาเซียน และกลุ่มซีแอลเอ็มวี เช่น กัมพูชา สำหรับประเทศใหญ่อย่างจีนและอินเดีย จะต้องเจาะตลาดลึกเป็นรายมณฑลและรายรัฐมากขึ้น โดยในแต่ละตลาดจะมีสินค้าเป้าหมายที่ต่างกัน และจากการวิเคราะห์สถิติสินค้าส่งออกไทยคาดว่า กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าไลฟ์สไตล์ จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 2563 ช่วยพยุงการส่งออกภายใต้สถานการณ์การค้าโลกที่ชะลอตัว สามารถต่อยอดผลักดันการส่งออกของไทยได้

ทีเส็บดึงเอกชนเที่ยวในประเทศ

นางสาววิชญา สุนทรศารทูล รักษาการรองผู้อำนวยการ สายงานบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มเป้าหมายองค์กรและบริษัทเพื่อเพิ่มจำนวนนักเดินทางกลุ่มประชุมสัมมนาให้มีการเดินทางภายในประเทศสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเดินทางท่องเที่ยวน้อย (Low Season) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นให้ขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังสมาชิกผู้ประกอบการไมซ์กว่า 200 หน่วยงาน เข้าร่วมโครงการแรก “ประชุมเมืองไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย” ภายใต้แคมเปญมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น สนับสนุนกลุ่มองค์กรบริษัท ในการจัดประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลภายในประเทศ ภายใต้ข้อกำหนดว่ากิจกรรมจะต้องจัดขึ้นคนละจังหวัดกับที่ตั้งของบริษัทนั้นๆ โดยต้องมีวันพักค้างอย่างน้อย 1 คืน มีผู้เข้าร่วมงานอย่างน้อย 40 คนขึ้นไปต่อกลุ่ม จะได้รับเงินสนับสนุนในรูปแบบบัตรกำนัล (Voucher) มูลค่า 20,000 บาทต่อกลุ่ม และให้ดำเนินการจัดงานผ่านบริษัทผู้รับจัดบริการเดินทางที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ โดยการรับรองของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายกระตุ้นรายได้กว่า 70 ล้านบาทภายใน 31 กรกฎาคม จากการจัดการประชุม สัมมนาองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศของกลุ่มบริษัทองค์กรได้ไม่ต่ำกว่า 500 กลุ่ม หรือเฉลี่ย 20,000-40,000 คน

บัวหลวงแนะจัดพอร์ตลงทุนกระจายเสี่ยง

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะผันผวนต่อเนื่องมาจากปี 2562 จากหลายปัจจัย ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องใช้ความระวังอย่างมากในการลงทุน จึงแนะนำใช้หลักการ จัดสรรพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและสถานการณ์ต่างๆ ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม สำหรับช่วงนี้ควรเน้นกระจายความเสี่ยงใน 5 สินทรัพย์หลัก คือ 1.ตลาดหุ้น สัดส่วนลงทุนประมาณ 23% แบ่งเป็นหุ้นไทยประมาณ 9% หุ้นเวียดนามประมาณ 9% และหุ้นสหรัฐประมาณ 5% 2.กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) สัดส่วนลงทุนเฉลี่ย 13% 3.ทองคำ สัดส่วนลงทุนเฉลี่ย 16% 4.ตลาดเงิน สัดส่วนลงทุนเฉลี่ย 6% และ 5.หุ้นกู้ภาคเอกชนระดับ BBB+ขึ้นไป สัดส่วนลงทุนเฉลี่ย 42%

ไทยสมายล์เปิดแผนลดขาดทุน

นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของบริษัท ตามภายใต้แนวคิด “เชื่อมไทย เชื่อมโลก” จะดำเนินการตามแนวทางคือ 1.ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ 2.แนวทางปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรอื่น เช่น วางแผนเส้นทางบิน ลดขนาดและค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนกับการบินไทย เร่งดำเนินแผนการทำงานและแผนฟื้นฟูโดยตั้งคณะทำงาน 2 คณะเพื่อผลักดันหรือส่งเสริมนโยบายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี และอีกคณะทำงานติดตามตรวจสอบแผนงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีแผนรัดเข็มขัดเพื่อลดภาวะขาดทุนและเพิ่มกำไร ปีนี้จะเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-เสิ่นเจิ้น และแผนบริหารจัดการภายในองค์กร มุ่งบริหารจัดการต้นทุนในระดับที่แข่งขันได้ และพร้อมร่วมมือกับการบินไทยอย่างเข้มข้น ทั้งการเชื่อมต่อเส้นทางบินของการบินไทย และบินทดแทนเส้นทางบินของการบินไทยบางเส้น และร่วมมือด้านการขาย เพื่อเพิ่มยอดขาย เป็นต้น

ดัน “มาบตาพุด” ขึ้นท่าเรือระดับโลก

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดสู่ท่าเรือระดับโลก ว่าได้ลงนามในสัญญาจ้างบริหารจัดการท่าเรือมาบตาพุด กับบริษัท มารีนไทย กรุ๊ป จำกัด ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2572 โดยบริษัท มารีนไทย กรุ๊ป เป็นบริษัทที่ดำเนินการด้านเรือแบบครบวงจรคือ กลุ่มธุรกิจสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมและบริหารจัดการคนประจำเรือ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอู่ต่อ-ซ่อมเรือ อุปกรณ์เรือ และกลุ่มธุรกิจให้บริการรับจ้างเหมาบริหารจัดการท่าเรือสำหรับเรือบรรทุกสินค้าทั่วไป สินค้าน้ำมัน เคมีและก๊าซ รวมถึงการบริหารจัดการระบบคลังเก็บสินค้า ซึ่งตรงกับเป้าหมายของ กนอ.ที่ต้องการพัฒนาให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก และเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ท่าเรือมาบตาพุดปัจจุบันมี 2 เฟสคือ ระยะ 1 และ 2 มีท่าเทียบเรือให้บริการ 12 ท่า ประกอบด้วย ท่าเรือสาธารณะ 3 ท่า ท่าเรือเฉพาะกิจ 9 ท่า โดยท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมีความสำคัญ เพราะเป็นช่องทางขนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้า-ส่งออกของด่านศุลกากรมาบตาพุดมีมูลค่า 1,028,070 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มขึ้น 2.06% จากปีงบประมาณ 2561 ปริมาณเรือและสินค้าผ่านเข้าออก 7,738 ลำ เพิ่มขึ้น 9.17% และมีปริมาณสินค้ารวม 45,546,474.11 เมตริกตัน

แบ่งเป็นสินค้าทั่วไปขาเข้า 30,515,495.25 เมตริกตัน และสินค้าทั่วไปขาออก 15,020,978.86 เมตริกตัน