ปีกแรงงาน “อนาคตใหม่” เปิดเวทีถกกำหนดแผนยุทธศาสตร์ ชี้ภาษีต้องใช้คุ้มค่า เร่งแก้ก่อนเข้าสังคมผู้สูงวัย

วันที่ 17 มกราคม 2563 ที่โรงแรมโคโค่ วิว จ.สมุทรสงคราม พรรคอนาคตใหม่ปีกแรงงานนำโดย นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และประธานกรรมาธิการแรงงาน นางสาววรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ นายทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.เขต5 ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ และนางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการแรงงาน ร่วมเสวนาเรื่อง การกำหนดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร

นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับเรื่องนโยบายการบริหารองค์การภายในคณะกรรมาธิการ เพื่อให้คุ้มครองเงินภาษีให้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าที่สุด ทางคณะกรรมาธิการจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ฟุ่มเฟือยลง และให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด หากพบปัญหาในการทำงาน คณะกรรมาธิการจะต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน เราจะไม่ละทิ้งลูกจ้างหรือนายจ้าง ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาที่ว่า ภาครัฐมีการจ้างงานที่ต่ำกว่าภาคเอกชน นั่นหมายถึงการจ้างเหมาบริการ เราได้ข้อมมูลมาว่า ในประเทศไทยมีการจ้างงานแบบเหมาช่วง เหมาบริการของทางภาครัฐ มีจำนวนมากกว่า 5แสนคน ซึ่งนี่คือตัวอย่างหนึ่งที่กรรมาธิการแรงงานต้องช่วยกันแก้ไข

“ในทุกๆวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีซึ่งตรงกับวันแรงงานนั้น พวกเราพี่น้องชาวแรงงานจะรวมตัวกันไปยื่นข้อเรียกร้องจากทางรัฐบาล โดยผ่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน หรือในบางปีนั้น นายกรัฐมนตรีจะลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นมีคำถามจากพี่น้องผู้ใช้แรงงานว่า ข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไปทุกปีมีการติดตามเป็นอย่างไร ทำงานร้อยเรียงกันอย่างไร วันนี้ผมในฐานะเป็นประธานกรรมาธิการ จะผลักดันและเร่งติดตามข้อเรียกร้องจากพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างเต็มที่” นายสุเทพ กล่าว

ด้าน น.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า เนื่องจากตนอยู่ในฝั่งของฝ่ายค้าน และจากการที่ตนได้เข้ามาในสภาฯ กลับทำให้มีบทบาทหน้าที่น้อยลงซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในการช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน ทั้งนี้ไม่ได้มีแต่กรรมาธิการแรงงานเท่านั้นที่เกิดปัญหา แต่เกิดปัญหาในการทำงานทุกคณะ เพราะเรามีคณะกรรมาธิการครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 และพึ่งมาตั้งอีกครั้งเมื่อปี 2562 ช่องว่างหลายปีที่ผ่านมาทำให้ปัญหาของพี่น้อประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข และเกิดปัญหาสะสมมาเป็นเวลานาน

“จากการที่ดิฉันเข้ามาทำหน้าที่ภายในสภา ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ที่ผ่านมาไม่มีมีตัวแทนจากคนใช้แรงงานจริงๆ เข้าไปเป็นปากเป็นเสียงในสภา และได้รู้อีกว่างบประมาณหรือทรัพยากร ที่ประชาชนได้เสียภาษีให้แก่รัฐ ถูกใช้ไปกับการลงทุนก่อสร้าง แต่การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์นั้นมีอัตราส่วนที่น้อยมาก ในปีหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ประเทศไทยจะมีผู้ที่อายุมากว่า 60 เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่าจะขาดแคลนบุคลากรทงด้านแรงงานเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

น.ส.วรรณวิภา กล่าวต่อว่า ในสัปดาห์หน้า ตนจะประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ และจะทวงถามในเรื่องของนโยบายต่างๆที่ได้หาเสียงไว้แก่ประชาชน ที่เกี่ยวกับสวัสดิของเด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่ไม่อยู่ในระบบ เนื่องจากยังมีคนมากกว่า 20 ล้านคน ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการต่างๆ และส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้มีอาชีพที่ไม่มั่นคง