กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ปีก “อนาคตใหม่” หนุนเปิดพื้นที่ความคิดเห็นประชาชน ต้องถกตรงไปตรงมา

“กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ อนาคตใหม่” หนุนเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ปชช. “ปิยบุตร” ชี้ความขัดแย้งมีอยู่แล้ว – หนุนถกตรงไปตรงมา “ชัยธวัช” ค้านประมวลสรุปให้ ปชช.ก่อนไปรับฟัง -ห่วงไม่เป็นกลาง “เอกพันธุ์” เสนอกระบวนการถกแถลง – แนะจับมือ “เครือข่ายประชาสังคม”

วันที่ 17 มกราคม 2563 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) ผู้สื่อข่าวรายงานในการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2560 กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่ร่วมแสดงความคิดเห็น โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ถ้าเราลองเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญถาวร 3 ฉบับท้าย จะเห็นว่า ฉบับปี 2540 เมื่อใช้แล้วไม่มีการเรียกร้องให้แก้ไขทันที ขณะที่ฉบับปี 2550 และ 2560 พอใช้ปุ๊บก็มีการเรียกเรียกร้องให้แก้ นั่นเพราะฐานที่มาจากรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เรื่องความเห็นต่างระหว่างฝ่ายเรียกร้องให้แก้ไขกับฝ่ายให้ใช้ต่อ มีมาตั้งแต่ครั้งเริ่มใช้ฉบับปี 2550 แล้ว จึงอยากให้มองเป็นปกติ เพราะเบื้องหลังคนอยากแก้กับคนไม่อยากแก้ก็สัมพันธ์กับการรัฐประหาร คนได้ประโยชน์ก็อยากให้ใช้ คนที่ถูกฝ่ายรัฐประหารคุกคามก็ไม่อยากให้ใช้ นี่เป็นปกติ จึงไม่อยากให้กังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะไม่อย่างนั้น เราจะไม่ได้คุยอะไรกันเลย

“เรื่องความขัดแย้งต้องนำมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสุดท้ายให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ไม่มีใครอยากให้บ้านเมืองกลับไปเป็นแบบเดิม แต่การไม่พูดกัน เพราะกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้ง นั่นหมายความว่าเราได้เอาความขัดแย้งไปซุกใต้พรม และวันหนึ่งจะระเบิดออกมา ความขัดแย้งจะเกิดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ครองอำนาจว่า พร้อมจะให้พูดอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่” นายปิยบุตร กล่าว

ยิ่งช้า “ภาคประชาชน” ยิ่งรุกขับเคลื่อนหนัก

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การรับฟังความคิดเห็นประชาชน อย่างไรต้องเกี่ยวข้องกับเนื้อหา เพราะถ้าไม่ตั้งไปเลยประชาชนจะถามว่าคุยทำไม เราต้องตั้งว่า อยากแก้ไขเรื่องอะไร ประเด็นไหนเป็นปัญหาต้องลงรายละเอียด เนื้อหาอะไรที่เป็นปัญหาคืออะไร ซึ่งถ้า กมธ.จะตั้งอนุ กมธ.ไปดำเนินการแล้วจะกังวลว่าเนื้อหาที่เสนอไปรับฟังจะทำให้เกิดความขัดแย้ง กมธ.ชุดนี้จะไม่ได้ทำอะไรเลย แต่อย่างไรก็ตามพี่น้องประชาชน นักวิชาการ ภาคประชาชนต่างๆ เขาทำกันเองเแล้ว และถ้าเราในฐาน กมธ.ยิ่งล่าช้า อาจจะทำให้เขาเคลื่อนแรงขึ้นด้วย หากผ่านไป 1-2 เดือน สื่อมวลชนจับตา สังคมจับตา หากยังไม่มีอะไรออกมา คนที่ขับเคลื่อนข้างนอกจะยิ่งเคลื่อนหนักอีก
“ภารกิจสำคัญของ กมธ.ชุดนี้คือ ทำอย่างไรให้สนองตอบความต้องการของประชาชน แต่ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า มีคนอยากแก้จริงๆ และคนที่ไม่อยากแก้จริงๆ อย่าเอาไปเป็นข้อกังวลว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าไม่เกิดการขับเคลื่อนอะไรเลยต่างหากจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง” นายปิยบุตร กล่าว

ชัยธวัช” ค้านประมวลสรุปให้ ปปช.ก่อนไปฟัง-หวั่นชี้นำ

ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนน่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะประชาชนเป็นกลางที่สุดที่จะบอกว่าจะเอาอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ ประเด็นอยู่ที่ว่าจะจัดการการมีส่วนร่วมอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เราต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งไม่ใช่หลบ สำหรับเรื่องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก่อนการรับฟังความคิดเห็น ที่ กมธ.หลายท่านกังวลว่าประชาชนจะไม่เข้าใจ และเสนอควรมีการให้ความรู้ก่อนนั้น ตนไม่เห็นด้วย เราไม่ควรตั้งต้นจากฐานความคิดแบบนี้ เพราะการประมวลนี้เลี่ยงไม่ได้ว่าจะมีอคติของแต่ละคน ว่าจะสรุปมาอย่างไร และจะเป็นการชี้นำประชาชน

“ดังนั้น เห็นว่าควรให้ความสำคัญต่อการกำหนดประเด็นให้ได้เอามาใช้ประโยชน์จริงๆ ประเด็นกับกลุ่มเป้าหมายต้องสอดคล้องกัน และประเด็นควรมีลำดับเวลาในการรับฟังความคิดเห็น สรุปคือ การรับฟังและประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นประชาชน ต้องออกแบบอย่างระมัดระวัง รับฟังแล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ การรับฟังกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน ประมวลสิ่งที่ได้ เพื่อให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นใช้ได้จริง ไม่ใช่เพื่อแค่จัดให้ได้จัดเท่านั้น” นายชัยธวัช กล่าว

ขณะที่ นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า หลายท่านกังวลเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนจะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ ตนอยากเสนอมุมมองเรื่องนี้ว่า ประเทศเราขัดแย้งอยู่แล้ว และความขัดแย้งไม่ได้เป็นสิ่งเสียหายเสมอไป หลายครั้งก็นำไปสู่ทางออกที่ทำให้สังคมพัฒนาไปข้างหน้าได้ ดังนั้น เวทีรับฟังความคิดเห็น ถ้าเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง เราสามารถใช้กระบวนการบางอย่างที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ หรือถกแถลง ทำให้คลี่คลายความขัดแย้งได้ ทำให้เกิดพื้นที่สันติภาพได้ด้วย และกระบวนการที่ว่านี้ คณะทำงาน จำเป็นต้องกำหนดบทบาทของผู้ทำงานในลักษณะอำนวยการให้เกิดการแลกเปลี่ยน เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ โดยต้องเปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องหลักการพื้นฐาน มีเหตุผลประกอบสนับสนุนหลักการนั้น และในการแสดงความคิดเห็น ต้องเน้นให้เกิดตรรกะต่างๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถ้าทำได้ พื้นที่รับฟังที่กังวลว่าจะนำสู่ความขัดแย้ง ก็จะลดความขัดแย้งลงได้

นายเอกพันธุ์ กล่าวอีกว่า นอกจากกระบวนการภายใน กมธ.แล้ว ยังมีกระบวนการริเริ่มของภาคประชาสังคมที่ริเริ่ม เช่น ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เป็นต้น เราสามารถสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเหล่านี้ได้ และยิ่งถ้าไปดูองค์ประกอบของแต่ละภาคประชาชนว่ามา ก็มีคนทุกสีเสื้อ ไม่ว่าเหลืองหรือแดง มีทุกเฉดสีในองค์กรเหล่านี้ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือนี้ จะทำให้สิ่งที่หวาดกลัวว่าพื้นที่ทำเกิดความขัดแย้ง ลดความขัดแย้งลงได้