“ปณิธาน” ยัน ไทยเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง ศึกมะกัน-อิหร่าน

“ปณิธาน” ยัน ไทยเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง ศึกมะกัน-อิหร่าน​ เผยต่างชาติเตือนจับตาคนเข้า-ออก ชายแดน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ​ (กมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน​ว่า เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน​ (13 ม.ค.) ทางฝ่ายเศรษฐกิจของตนได้ให้ข้อมูลและชี้แจงว่าในชั้นนี้ยังไม่กระทบอะไรต่อประเทศไทย​ แต่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง และดูว่าสถานการณ์พูดคุยเจรจาในช่วงนี้จะสำเร็จหรือไม่ เราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนในระยะกลางต้องดูเกี่ยวกับความขัดแย้งที่อาจจะปะทุขึ้นมาในบางพื้นที่ เพราะในตะวันออกกลางมีบางพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายอยู่​ และขณะนี้มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังกัน คิดว่าทุกประเทศ​ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศสภาความมั่นคงแห่งชาติจะแจ้งเตือนกันไป​ ขณะที่ในระยะยาวต้องดูว่าการพูดคุยในเรื่องของการไม่สะสมอาวุธนิวเคลียร์นั้นจะสำเร็จหรือไม่​ ซึ่งตรงนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจการลงทุน

นายปณิธาน​ กล่าวว่า​ ถ้าสองปัจจัยคือ​ ระยะสั้นไม่มีการปะทุในบริเวณรอบๆ​ และในบางพื้นที่ที่เฝ้าระวังในทวีปยุโรป​ รวมถึงบางประเทศในเอเชีย ส่วนในระยะยาวอิหร่านไม่เดินออกจากข้อตกลงจริงๆ คิดว่าภาพรวมอาจจะดีกว่าที่เราประเมินไว้ตอนแรก

ผู้สื่อข่าวถามว่า​ การตั้งรับของประเทศไทยต้องทำอย่างไร นายปณิธาน​ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงได้สั่งการให้มีการดูแลในภาพรวมของความเรียบร้อยโดยปกติ ความจริงเราได้เฝ้าระวังมาตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ ฉะนั้น สถานการณ์ในขณะนี้เรียบร้อยดี​ แต่ประมาทไม่ได้​ เพราะคงจะจำกันได้เคยมีประสบการณ์ในเรื่องที่มีความพยายามที่จะโจมตีผลประโยชน์ของบางประเทศเป็นระยะๆในรอบหลาย 10 ปี แต่ในช่วง​ 4-5​ ปีหลังนี้ถือว่าราบรื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่า​ ท่าทีของประเทศไทยยังไม่ควรทำอะไรทั้งสิ้น​ และรอฟังก่อนใช่หรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า​ ประเทศส่วนใหญ่เป็นกลาง มีท่าทีที่เป็นกลาง สหประชาชาติ​ สหภาพยุโรป​ และหลายประเทศ​ รวมทั้งเพื่อนบ้านของไทยก็มีท่าทีที่เป็นกลาง​ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในเรื่องของการที่จะลดความตึงเครียดลง​ มีไม่กี่ประเทศที่เลือกข้างโดยชัดเจน​ ค่อนข้างน้อย ยกเว้นประเทศที่น่าจับตาดูคือแคนาดา เพราะคนของเขาเสียชีวิตในกรณีเครื่องบินตก ซึ่งกรณีเครื่องบินตกกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในอิหร่านเอง มีการเดินประท้วง​ มีความรุนแรงนิดหน่อย ตรงนี้ต้องดูว่าในประเทศอิหร่านเองจะมีอะไรที่จะปะทุและบานปลายหรือไม่​ ถือเป็นพัฒนาการใหม่หลังจากที่เ​มื่อวัน​ 11​ มกราคมที่ผ่านมาที่ ทางการอิหร่านยอมรับว่าเกิดข้อผิดพลาดจนทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น สิ่งนี้คือผลพวง ที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษบ้างในกรณีความขัดแย้งภายใน แต่คงไม่เกี่ยวข้องกับใครโดยตรง

เมื่อถามว่าในส่วนของอาเซียนจะมีการพูดคุยถึงท่าที ของอาเซียนต่อเรื่องนี้หรือไม่ นายปณิธาน​ กล่าวว่า ปกติที่ประชุมว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของอาเซียนมีประเทศรวมกันเกือบ 30 ประเทศที่จะพูดคุยและประเมินสถานการณ์เป็นระยะ​ โดยในวงรอบการประชุมน่าจะมีการนำเรื่องนี้เข้าไปหารือในแง่ของการประเมินสถานการณ์ในภาพรวม​ แต่ในระยะสั้นคิดว่าอาจจะเป็นเรื่องของบางประเทศที่แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันอยู่ในหมู่ของประเทศอาเซียน ซึ่งเข้าใจว่ามาเลเซียกับบางประเทศในอาเซียนก็มีการพูดคุยกัน​ เช่นเดียวกับเรา ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีอะไร

เมื่อถามว่า​ มีจุดที่เราจะต้องจับตาโดยเฉพาะ เช่น จังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ นายปณิธาน​ กล่าวว่า เป็นการดูเรื่องคนเข้า-ออกมากกว่า​ และในระยะนี้บางประเทศเขาจับตาดูเป็นพิเศษมากกว่าเรา ซึ่งเราขอให้เขาแจ้งเตือนเรา ประชาคมข่าวจะเฝ้าระวังบางกลุ่ม โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเรา​ 2-3​ ประเทศ มีความเคลื่อนไหวบางอย่างก่อนหน้านี้​ ซึ่งไม่ทราบว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพราะก่อนปีใหม่มีการจับความเคลื่อนไหวของบางประเทศ แต่ของเราไม่มีอะไรเราจึงขอข้อมูลและแลกเปลี่ยนกันว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกี่ยวข้องหรือไม่ ตนเชื่อว่าช่วงนี้คงน่าจะประเมินได้แล้วว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นอย่างไร​ แต่ส่วนใหญ่ถือว่าไม่มีอะไร

“ที่เขาแจ้งเตือนกันคือ​ การเข้า ออกของประเทศเพื่อนบ้านเรา เพราะต้องเฝ้าระวังผู้ต้องสงสัย ที่เข้าออกอยู่2-3​ ประเทศในภูมิภาคเรา ซึ่งมีความการเข้า-ออกผิดปกตินิดหน่อย เขาจึงได้แจ้งเตือนกัน แต่ของเราไม่มีการเข้า-ออกผิดปกติ​ จึงถือว่ายังไม่มีอะไรในขณะนี้​ เพื่อนบ้านก็ดูปกติแล้ว​” นายปณิธาน กล่าว