‘ไอลอว์’ เปิดชื่อ 10 กก.สรรหา 250 ส.ว. พบคนกันเองทั้งนั้น นักวิชาการชี้ มีผลประโยชน์ทับซ้อน

เมื่อวานนี้ (8 ธันวาคม 2562) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้โพสต์เปิดรายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยไอลอว์ระบุว่า

ในที่สุด คสช. ก็ยอมเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทั้ง 10 คน พร้อมด้วยคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. ที่วิษณุนำทีมเอง หลังจากที่กระบวนการนี้ทำเสร็จตั้งแต่ต้นปี 62 และไอลอว์ยื่นหนังสือขอข้อมูลไปนานกว่า 7 เดือน

ก่อนหน้านี้ในความรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ส.ว. ได้รับรู้เพียงแค่ขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่กระบวนการในรายละเอียดที่ฝ่าย คสช. ดำเนินการไม่มีใครทราบว่า มีขั้นตอนอย่างไร เราจึงยื่นหนังสือสอบถามรายละเอียดส่วนนี้ไปกับทาง กกต. และคสช. ตั้งแต่ 11 มีนาคม 2562 https://ilaw.or.th/node/5209

จนกระทั่งวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 หรือเวลาผ่านมากว่า 241 วัน สำนักงานเลขาธิการกองทัพบก ได้ติดต่อกลับมายังไอลอว์ให้ไปรับเอกสารเกี่ยวกับการสรรหา ส.ว. ทั้งหมด ของ คสช. เอกสารที่ได้รับมามีทั้งหมด 63 หน้า

เอกสารสองฉบับที่ได้รับมา คือ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 2/2562 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. ทั้งสองฉบับนี้ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ไขข้อข้องใจให้กับคนในสังคมว่า ใครกันเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ส่งรายชื่อให้ คสช. ซึ่งคำสั่งทั้งสองฉบับไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน

ก่อนหน้านี้มี “ข่าวลือ” ตามสื่อมวลชนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เอง พร้อมด้วยรายชื่อ “บิ๊กเนม” ของ คสช. ทั้งหลายนั่งเป็นกรรมการ เช่น วิษณุ เครืองาม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ฯลฯ เมื่อเราได้เห็นคำสั่งอย่างเป็นทางการแล้วก็พบว่า ข่าวลือก่อนหน้านี้ไม่ได้ผิดนัก แต่ก็ยังมีอีกหลาย “บิ๊กเนม” ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน

ในคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (1) จำนวนทั้งหมด 10 คน ได้แก่

1. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรี) เป็นประธาน

2. พรเพชร วิชิตชลชัย (ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) กรรมการ

3. พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ

4. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย (รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ

5. พลตำรวจอดุลย์ แสงสิงแก้ว (รองหัวหน้า คสช.) กรรมการ

6. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ

7. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ

8. วิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ

9. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ (รองนายกรัฐมนตรี) กรรมการ

10. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กรรมการ

ซึ่งทั้ง 10 คนเป็นข้าราชการทหารตำรวจถึงเจ็ดคน และเป็นคนที่ทำงานกับ คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งหมด แต่ใน “เอกสารสรุปข้อมูล” ระบุว่า คสช. ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เพื่อคัดเลือกคนที่จะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. แต่ ในวันประชุมดังกล่าว พรเพชร วิชิตชลชัย ได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ ทำให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทำงานกันเพียง 9 คนเท่านั้น

ในส่วนของคำสั่ง คสช. ที่ 2/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การคัดเลือก ส.ว. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้แต่งตั้งคณะทำงานทางธุรการเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการคัดเลือก โดยไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อต่อสาธารณชน และให้ทำบัญชีแยกประเภทตามมาตรา 296 (1) (ก) และ (ข) แล้วส่งผลการตรวจสอบให้ คสช. ภายในเดือนเมษายน 2562 ดังนี้

1. วิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

2. พีรพิชญ์ วงศ์วัฒนศานต์ (อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และนิติกร สำนักงานกฤษฎีกา) เป็นคณะทำงาน

3. ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นคณะทำงาน

4. ข้าราชการในสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามที่เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนด จำนวนไม่เกินห้าคน เป็นคณะทำงาน

5. พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ (รองเลขาธิการ คสช.) เป็นคณะทำงาน และเลขานุการ

จากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 2/2562 ทำให้เห็นว่า คณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัตินั้น ก็ยังคงควบคุมโดยวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เอง อีกทั้งในคำสั่งยังระบุ ไม่ให้คณะทำงาน “เปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อต่อสาธารณะชน” อีกด้วย

ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และเว็ปไซต์ของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้รวบรวมกฎหมาย และประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด จากการสืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ทั้งสองเว็บไซต์ยังไม่ได้เผยแพร่คำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 และ คำสั่ง คสช. ที่ 2/2562

ทั้งนี้ นายอานนท์ มาเม้า อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพแสดงความคิดเห็นทำนองว่า คุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาตามบทบัญญัติกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดูขัดกันอย่างสิ้นเชิง โดยนายอานนท์ระบุว่า

รธน. กำหนด “คุณสมบัติ” ของกรรมการสรรหา สว. สำหรับให้ คสช.พิจารณาแต่งตั้ง

ขอให้ดูข้อความที่ว่า “มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง”
แล้วย้อนไปดูรายชื่อกรรมการที่เพิ่งมีการเปิดเผยออกมา

จะเห็นว่า เมื่อกรรมการดังกล่าวทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ คสช. ทั้งบุคคลหลายรายที่ได้รับการสรรหาเป็น สว. ก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับกรรมการสรรหา

ดังนั้น จะไม่ให้ประชาชนตั้งคำถามถึงความตกต่ำของการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญนี้ได้อย่างไร