อดีตผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา พบสมาชิกรัฐสภามาเลเซีย หาแนวร่วมหนุนฟื้นประชาธิปไตย

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า นายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือซีเอ็นอาร์พี พร้อมด้วยนางมู ซกฮัว รองหัวหน้าพรรค ได้เดินทางถึงรัฐสภามาเลเซียและเข้าพบสมาชิกรัฐสภาทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อเดินสายหาเสียงสนับสนุนจากประเทศในภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลกัมพูชาของสมเด็จฯฮุน เซน หลังจากก่อนหน้านี้ นักการเมืองฝ่ายค้านของกัมพูชาไม่สามารถเดินทางกลับกัมพูชาตามแผนเพื่อก่อการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในการโค่นรัฐบาลฮุน เซน ที่ครองอำนาจติดต่อกันนานกว่า 3 ทศวรรษ

โดยวันนี้ สม รังสี ได้เข้าพบและพูดคุยกับสมาชิกรัฐสภามาเลเซียในประเด็นที่สนใจร่วมกัน ตามคำเชิญของรัฐสภามาเลเซีย ซึ่งได้นูรุล อิสซา อันวาร์ บุตรสาวของนายอันวาร์ อิบราฮิม แกนนำพรรครัฐบาลเป็นผู้ส่งหนังสือเชิญ

ต่อมาสม รังสี ได้กล่าวกับสื่อหลังเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุยว่า มีสมาชิกสภาที่สนับสนุนประชาธิปไตยในกัมพูชา เราเชื่อว่าพวกเขาจะสนับสนุนคุณค่าประชาธิไตยและสิทธิมนุษยชนให้กับทั่วเอเชีย

การพบกันระหว่างสมาชิกรัฐสภามาเลเซียและคณะสมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์พีนำโดยสม รังสีครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ได้เดินทางจากปารีสถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่สม รังสี ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ตามแผน หลังจากสายการบินไม่ให้สม รังสีขึ้นเครื่อง ประกอบกับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลไทยกล่าวไม่ให้สม รังสีเข้าประเทศไทยเป็นทางผ่านและเดินทางเข้าด่านปอยเปตของกัมพูชา โดยอ้างว่ามติของอาเซียนจะไม่ยุ่งกิจการภายในซึ่งกันและกัน และไม่ยอมให้ใช้ไทยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล

รวมกรณีที่นางซกฮัว ถูกทางการมาเลเซียผลักดันออกจากประเทศหลังจากนั่งเครื่องบินจากอินโดนีเซียมายังมาเลเซียเมื่อสัปดาห์ก่อน

ต่อมา สมเด็จฯฮุน เซนได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณประเทศสมาชิกาอาเซียนที่ยอมทำตามคำขอไม่ให้การช่วยเหลือบุคคลที่เป็นนักโทษหนีคดี

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของกัมพูชาและการกระทำของชาติสมาชิกอาเซียนในการขัดขวางการเดินทางของอดีตผู้นำฝ่ายค้าน ก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และถูกกดดันอย่างหนักอย่างหนักว่า อาเซียนส่งเสริมสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเดินทาง

ล่าสุด รัฐบาลกัมพูชาต้องผ่อนคลายท่าทีเพื่อลดแรงกดดันด้วยการผ่อนปรนการกักบริเวณในบ้านให้กับนายกึม สุขา ผู้นำพรรคซีเอ็นอาร์พีและผู้สืบทอดหัวหน้าพรรคต่อจากสม รังสี หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในข้อหาเตรียมก่อการกบฎโค่นรัฐบาล ทำให้มีนักการทูตจากหลายประเทศเข้าพบนายกึมกันอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ เมื่อวานนี้ สหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้กัมพูชาปล่อยตัวนักโทษและสร้างสภาพที่เอื้อต่อนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงการสร้างกระบวนการสมานฉันท์ผ่านการหารืออย่างแท้จริง

นอกจากนี้ อียูเตรียมจะเผยแพร่รายงานที่อาจหมายถึงการพิจารณายกเลิกข้อตกลงทางการค้ากับกัมพูชา อันเป็นผลจากการทำลายพรรคฝ่ายค้าน แม้จะยังไม่มีผลตัดสินจนกว่าถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งการยกเลิกข้อตกลงทางการค้านี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของกัมพูชาโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีแรงงานในภาคนี้มากถึง 16 ล้านคน

สำหรับนายสม รังสี รวมถึงนายกึม สุขา ถือเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่ต้องกำจัดออกไป ในสายตาของสมเด็จฯฮุน เซน อดีตผู้บัญชาการเขมรแดง ก่อนแปรพักตร์เข้าร่วมกับกองทัพเวียตนามและได้เป็นผู้นำประเทศหลังกองทัพเวียตนามบุกยึดกัมพูชา และปกครองประเทศต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี แม้กัมพูชาจะมีการจัดการเลือกตั้ง แต่สมเด็จฯฮุน เซน ได้ใช้อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองกำจัดพรรคฝ่ายตรงข้าม ลิดรอนละเมิดสิทธิทั้งนักการเมือง ผู้เห็นต่าง สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและประชาชน รวมถึงใช้ศาลในการสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พีก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ สม รังสีถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทรวมถึงข้อหาอื่นในปี 2558 และทำให้สม รังสีเลือกลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศฝรั่งเศส โดยระบุว่าข้อหาดังกล่าวมีแรงจูงใจทางการเมือง และยังกล่าวด้วยว่า เขายังคงหาทางกลับกัมพูชา แม้จะบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่