ประมงใต้จี้รัฐแก้แรงงาน ม.83 พรก.การประมง เหตุไร้คนออกเรือ ขาดวัตถุดิบป้อนรง.แปรรูป

สมาคมอวนล้อมจับเผยโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ-โรงงานปลากระป๋องส่อปิดตัวลงอีก หลังขาดแคลนวัตถุดิบหนัก เรือประมงจำนวนมากยังออกหาปลาไม่ได้ จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาธุรกิจประมงทั้งระบบ ทั้งด้านแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 83 เงินทุน กฎระเบียบกว่า 300 ฉบับที่เป็นอุปสรรค หลังพิษไข้ IUU ยังบอบช้ำเรื้อรัง เสียหายแสนล้านบาท แม้อียูจะปลดใบเหลืองไปแล้ว

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า เกือบ 4 ปีที่ภาคอุตสาหกรรมประมงของไทย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องเผชิญกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) หลังจากที่สหภาพยุโรป (อียู) มีมติให้ใบเหลืองไทย เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2558 ประเทศไทยถูกสั่งห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลไทยเข้าไปจำหน่ายในตลาดอียู ทำให้รัฐบาลไทยออกมาเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 และออกกฎระเบียบข้อบังคับตามมาอีกเกือบ 300 ฉบับ ส่งผลให้อุตสาหกรรมประมงทั้งระบบต้องเผชิญกับการปรับตัวอย่างรุนแรง บางรายที่ปรับตัวไม่ได้ต้องเลิกกิจการไป จนถึงวันที่ 8 ม.ค. 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ยอมปลดล็อกใบเหลืองให้ประเทศไทย แต่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยยังคงมีต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แม้ว่าทางอียูได้ปลดล็อกใบเหลืองให้ประเทศไทย ประมงไทย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา หลังจากภาครัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ แต่ผลกระทบอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นในวงกว้างต่อธุรกิจประมงยังมีต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ภาพรวมทั่วประเทศจากเรือประมงพาณิชย์ที่มีประมาณ 20,000 ลำ ตอนนี้เหลือประมาณ 10,000 ลำ และยังออกประกอบการไม่ได้ ประมาณ 40% คนงานเรือประมงว่างงานเป็นจำนวนมาก อุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องปิดกิจการลง เช่น อู่ซ่อมเรือ แพปลา โรงน้ำแข็ง รวมถึงโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ โรงงานปลากระป๋อง ที่ต้องหยุดกิจการไปเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น จ.ปัตตานี ต้องปิดกิจการไป ประมาณ 30-40% และมีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะปิดตัวลงอีก

“ที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมที่มาลงทุนเปิดที่ จ.ปัตตานี, มหาชัย จ.สมุทรสาคร, แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เพราะเป็นแหล่งที่ใกล้วัตถุดิบ ใกล้ท่าเรือ เพื่อลดต้นทุนการผลิตค่าขนส่ง แต่ตอนนี้เรือประมงส่วนใหญ่ไม่สามารถออกจับปลาได้ ทำให้วัตถุดิบจำนวนมากหายไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับแสนล้านบาทต่อปี ภาพรวมกว่า 4 ปีของปัญหา IUU หากคิดรวมความเสียหายประมาณ 500,000 ล้านบาทแล้ว สามารถที่จะชี้แจงเป็นรายละเอียดได้” นายภูเบศกล่าว

“ดังนั้น จึงอยากเสนอรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูธุรกิจประมงภายในระยะเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลไม่ต้องลงทุน ได้แก่ 1.ด้านแรงงาน 2.เงินทุน และ 3.กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ประมาณ 300-400 ฉบับที่นำออกมาบังคับใช้ ขณะที่ถูกใบเหลือง IUU สำหรับเรื่องเงินลงทุนของผู้ประกอบการกำลังคุยกับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างดำเนินการ” นายภูเบศ กล่าว

นายภูเบศกล่าวต่อไปว่า ยังมีอีกประเด็นที่จะต้องพูดคุยระหว่างกัน คือผู้ประกอบการเรือประมงที่ได้รับผลกระทบเรื่องการนำเข้าสัตว์น้ำ ที่ยังไม่ได้กำหนดมาตรการ กำหนดโควตาการนำเข้า ส่งผลให้ราคาสัตว์น้ำไทยถูกกดดันราคาให้ต่ำลง จากปัจจัยค่าเงินบาทแข็ง ดังนั้นการนำเข้าสัตว์น้ำราคาจึงต่ำ และมีการนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อประมงไทย ตรงนี้ต้องการพูดคุยกันแต่ละฝ่าย โดยผู้ประกอบการเรือประมงเข้าร่วมด้วย และจะต้องเร่งแก้ไขเช่นกัน

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญขณะนี้คือผู้ประกอบการเรือประมงยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เจ้าของเรือต้องหาแรงงานประมงต่างด้าวที่มีเอกสารในการเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้อง ขึ้นทะเบียนตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 83 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมประมงสามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานได้เช่นเดียวกับกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยใช้หนังสือคนประจำเรือ (seabook) เป็นใบอนุญาตทำงาน หากเรือประมงมีแรงงานสามารถออกทำการประมงได้