‘เอกชน’​เสนอกนง.ลดดอกเบี้ย0.25% หวังฟื้นเศรษฐ​กิจยาวถึงปี’63

‘เอกชน’​เสนอกนง.ลดดอกเบี้ย0.25% หวังฟื้นเศรษฐ​กิจยาวถึงปี’63

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำการลดดอกเบี้ยนโยบายลงขั้นต่ำ 0.25% จากระดับ 1.50% จะถือว่าเป็นความคงเส้นคงวาของการวางนโยบายในเรื่องของการดูแลเงินเฟ้อ เป็นหน้าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย​ (แบงก์​ชาติ)​ ไม่ให้ต่ำเกินไป โดยเป้าหมายเงินเฟ้อในขณะนี้อยู่ที่ 1-4% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่า 1% และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยยังไม่มีสัญญาณ​ที่จะฟื้นตัวขึ้น

“ตอนนี้เศรษฐกิจ​ไทยมีสัญญานของการชะลอตัวลง ซึ่งวัดได้จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลง บ่งบอกถึงกำลังซื้อทั่วไปของประชาชนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ดังนั้น การลดดอกเบี้ยของแบงก์​ชาติจะเป็นผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ​ อย่างน้อยก็จะช่วยให้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ข้อสำคัญการลดดอกเบี้ยจะช่วยให้ผู้ประกอบการ​ขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)​ และภาคประชาชน มีภาระในการจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง โอกาสในการจับจ่ายใช้สอยและการกู้ยืมเพื่อซื้อสินทรัพย์​ก็จะเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น” นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ ถึงแม้ปัจจุบัน​หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ โดยธนาคารพาณิชย์​ ยังมีการดูแลในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อยังอยู่ในกรอบที่เหมาะสม หากยังสามารถควบคุมสถานการณ์​ได้จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจ​ในช่วงปลายดีปรับตัวดีขึ้น โดยจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจ​ในปี 2563 ฟื้นตัวอยู่ที่ 3% ซึ่งในปีหน้าภาครัฐได้มีการตั้งเป้าการเติบโตทั้งปีอยู่ที่ 3.5% ภายใต้เศรษฐกิจ​โลกที่มีบรรยากาศ​คลี่คลายลง แต่ถ้าไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยก็อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจ​ไม่มีการฟื้นตัว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยยังไม่ใช้ปัจจัย​เดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจ​ฟื้นตัวขึ้น ต้องดูแลควบคู่ไปกับนโยบายการคลัง และต้องมีการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจ​พิเศษ​ภาค​ตะวันออก​(อีอีซี)​ อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าการลดดอกเบี้ยและการใช้นโยบาย​การคลังของรัฐบาล​ ไม่กระตุ้นให้เศรษฐกิจ​ไทยดีขึ้นมาได้จะถถือว่าเป็นสัญญาณ​ที่อันตราย​เป็นอย่างมาก มองว่าควรจะต้องมีการปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส​ 4/2562 เป็นต้นไป เพราะตอนนี้ไทยยังมีการเติบโตต่ำสุดในอาเซียน ดังนั้นรัฐจะต้องผลักดันให้เศรษฐกิจ​ไทยขยายตัว 4-5% ตาม​ยุทธศาสตร์​ชาติ 20 ปีให้ได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัญหาของเศรษฐกิ​จไทยในตอนนี้ คือเม็ดเงินในภาคการส่งออกสูญหายไปจากระบบเศรษฐกิจ​กว่า 2-3 แสนล้านบาท ส่วนมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการชิมช้อปใช้ และโครงการประกันรายได้เกษตรกร เชื่อว่าทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 70,000 – 1 แสนล้านบาท ดังนั้นในช่วงต้นปี 2563 รัฐจะต้องเร่งผลักดันให้มีงบลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท