ปมจีนละเมิดอุยกูร์ ทำเวทียูเอ็นเสียงแตก 23 ชาติตะวันตกแถลงประณาม อีกฝ่ายโต้ทันควัน

วันที่ 30 ตุลาคม 2562 ซีเอ็นเอ็น รายงานบรรยากาศการแถลงตอบโต้กันไปมาระหว่างกลุ่มชาติสมาชิกสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจีเอ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติของทางการจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเกียง ซึ่งถูกชาติตะวันตกประณามว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ส่งผลให้การประชุมยูเอ็นเสียงแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน

การปะทะกันเริ่มขึ้นเมื่อ นางคาเร็น เพียซ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำยูเอ็น อ่านแถลงการณ์ในฐานะตัวแทนของชาติ 23 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แสดงความกังวลต่อการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ อาทิ การควบคุมตัวไปเข้าค่ายกักกันเพื่อล้างสมอง ซึ่งจีนปฏิเสธว่าเป็นเพียงค่ายฝึกฝนทักษะอาชีพและการต่อต้านการก่อการร้าย

“มีรายงานน่าเชื่อถือว่ามีการควบคุมตัวแบบขนานใหญ่ ความพยายามเพื่อสกัดกั้นทางด้านวัฒนธรรมประเพณี และการติดตามสอดส่องที่ไม่เหมาะสมต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดังกล่าว” และขอเรียกร้องให้ทางการจีนปฏิบัติตามพันธะกรณีสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและหลักสากล รวมทั้งเปิดทางให้ผู้สังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนลงพื้นที่ด้วย

แถลงการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการตอบโต้แบบทันควันจากประเทศเบรารุส ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรของจีน ออกแถลงการณ์ในนามตัวแทนชาติ 54 ประเทศ เพื่อแสดงความเห็นด้วยต่อมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของจีนในมณฑลซินเกียง ทั้งยังชื่นชมว่ามาตรการดังกล่าวทำให้จีนสามารถสกัดกั้นแนวคิดสุดโต่งและปกป้องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ครบถ้วน

ในจำนวน 54 ประเทศที่แสดงความชื่นชมจีน เช่น รัสเซีย อียิปต์ โบลิเวีย และเซอร์เบีย รวมถึงปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย ทั้งหมดเรียกร้องให้บางชาติยุติการนำประเด็นสิทธิมนุษยชนมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และกล่าวหาทางการจีนอย่างไม่มีมูล