“วัฒนา” ชี้ กมธ.ป.ป.ช. มีอำนาจเรียกซักได้ จี้ “ประยุทธ์-ประวิตร” จะร่วมมือ หรือ เลือกลาออก!

วันที่ 25 ตุลาคม 2562 นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ต่อกรณีที่ พ.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวช ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เตรียมเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาตอบข้อซักถามประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไม่เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ความเห็นระบุมีสิทธิ์จะไม่ไปได้ หรือจะส่งผู้แทนไปก็ได้ หรือแม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ รีบพูดตัดบทที่เรื่องจบไปแล้วว่า

ผมเห็นว่าคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ มีอำนาจเรียกพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรไปให้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการกรณีการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก

(1) แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเคยมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องการถวายสัตย์ฯ ไว้พิจารณา แต่ศาลทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ส่วนสภาตรวจสอบการกระทำทางการเมืองจึงเป็นคนละหน้าที่กัน
(2) การถวายสัตย์ถือเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่จะต้องกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ หากสภาเห็นว่าการกระทำของรัฐมนตรีน่าจะไม่ชอบหรือไม่เหมาะสมก็ย่อมตรวจสอบได้แม้การกระทำนั้นจะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม
(3) คณะกรรมาธิการเป็นกลไกของสภาตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องราวใดอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อการดังกล่าวคณะกรรมาธิการมีอำนาจที่จะเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษานั้นได้
(4) คำว่าบุคคลใดย่อมรวมถึงรัฐมนตรีด้วย หากรัฐมนตรีได้รับหนังสือเชิญแล้วไม่มาคณะกรรมาธิการมีสิทธิออกคำสั่งเรียกให้มา การฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมาธิการมีโทษถึงจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฏรหรือวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 13

ทั้งนี้ นายวัฒนากล่าวว่า หากผมเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกผมจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการ เพราะเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เมื่ออยากเป็นฝ่ายบริหารก็ต้องยอมรับการตรวจสอบไม่เช่นนั้นก็ควรลาออกไป แต่ถ้าคิดว่าตัวเองเส้นใหญ่กฎหมายทำอะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องมา ค่อยไปเจอกันที่ศาลแล้วกัน