‘ศรีสุวรรณ’ ออกแถลงการณ์ จี้ ส.ส.อภิปรายหั่นงบทหารยุคไทยแลนด์ 4.0 ลดจำนวนนายพลว่างงาน

วันที่ 17 ตุลาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเพิ่มงบประมาณกระทรวงกลาโหมสนองทหารการเมือง ตามที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2563 ในวันที่ 17-19 ตุลาคมนี้และเป็นการอภิปรายวาระแรกเพื่อพิจารณารับหลักการ

ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยื่นของบประมาณจำนวน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 2 แสนล้านบาทนั้น แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อพิจารณาการยื่นของบประมาณของแต่ละกระทรวงแล้ว ทำให้เป็นที่กังวลเป็นอย่างมากว่า เหตุใดรัฐบาลจึงยังมุ่งเน้นการเพิ่มงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากขึ้นอีก ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงด้านขัดแย้งในภูมิภาคไม่มี เพราะปี 2563 กระทรวงกลาโหมของบประมาณ 233,353,433,300 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวนถึง 6,226,867,000 บาท โดยปี 2562 ได้งบประมาณทั้งสิ้น 227,126,566,300 บาท และเมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณ 5 ปีย้อนหลังนับแต่ในสมัยรัฐบาลที่มี คสช. ควบคุม ก็จะพบว่ามีการเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2558 จำนวน 192,949 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 206,461 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 213,449 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 229,383 ล้านบาท มาปี 2562 ลดลงเล็กน้อย จำนวน 227,126 ล้านบาท แต่พอมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับยังเพิ่มงบประมาณให้อีกถึง 233,353 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่อาจหลีกพ้นอิทธิพลของฝ่ายทหารการเมืองไปได้

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ในยุคไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงกลาโหมควรปรับลดงบประมาณลงเสียอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง สามารถทำได้ทันที เช่น การปรับลดทหารยศนายพลลงเหลือ 1 ใน 3 ในทุกเหล่าทัพจากประมาณ 1,500 คน ให้เหลือเพียงไม่เกิน 500 คน เพื่อให้เหลือนายทหารชั้นนายพลเท่าที่จำเป็นและมีภารกิจงานที่ต้องทำเท่านั้น เพราะทุกวันนี้มีนายทหารระดับสูงจำนวนมากที่มีเวลาว่างไปเล่นกอล์ฟ ไปจัดทอล์กครื่องบิน รถถัง ของทุกเหล่าทัพลง ยกเลิกการสร้างบ้านพักคฤหาสน์หรูให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง และทวงคืนบ้านพักนายทหารที่เกษียณไปแล้ว แต่ยังไม่ยอมย้ายออกด้วย รวมทั้งการปรับลดการเกณฑ์พลทหารลง 1 ใน 3 เพราะกำลังกลายเป็นช่องทางให้คอร์รัปชั่นของผู้บังคับหน่วยหลายประการ ยกเลิกพลทหารรับใช้บ้านนาย และทหารติดตามนายเสีย แถลงการณ์ระบุอีกว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ตัดลดลงมา จะสามารถนำไปช่วยในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาการว่างงานที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจจุลภาคและมหภาคของประเทศได้ดี สมาคมฯจึงขอเรียกร้องให้ ส.ส.ผลักดันให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณางบฯในวาระ 2 มีความกล้าหาญหั่นงบกรระทรวงกลาโหมลงเสียกึ่งหนึ่ง เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศในที่สุดต่อไป

ด้านนายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายท้องถิ่น กล่าวว่า ควรลดอัตรานายพล แล้วนำงบที่เหลือเพิ่มเงินเดือนให้พลทหาร เนื่องจากพบว่างบประมาณจำนวนมากของกองทัพต้องจ่ายให้บรรดานายพลที่บางรายไม่มีงานทำ ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทย อัตราพลเอก 1 อัตรา มีกำลังพลประมาณไม่เกิน 200 นาย จากมาตรฐานที่กำหนด 1,000 นาย ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบกำลังพลของสหรัฐที่มีมากกว่าไทยถึง 3 เท่า แต่ไทยมีนายพลมากกว่าสหรัฐ โดยมีนายพลจำนวนมากรับเงินค่าตอบแทนหลายทาง สหรัฐมีนายพล 1 พันคนไทยมี 1500 คน ดังนั้นไทยจึงเป็นอภิมหาอำนาจแสนยานุภาพทางทหารเหนือกว่าสหรัฐ ด้วยจำนวนนายพลที่มากกว่า เทียบอัตราส่วนกับสหรัฐ ไทยจะมีนายพลมากกว่าสหรัฐประมาณ 4 เท่า แต่นายพลไทยเกือบทั้งหมด ไปอยู่ในทำเนียบในวุฒิสภา ไม่ได้ไปแถวชายแดน โดยเฉพาะชายแดนฝั่งเขมรที่มีปัญหารุกล้ำอาณาเขตไม่เคยผ่านการรบกับข้าศึก อย่างดีก็เคยผ่านการถือปืนไปปราบม็อบชุมนุมการเมือง ต่อสู้กับคนไทยด้วยกัน ปืนที่ใช้เป็นเงินภาษี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินภาษีของผู้ชุมนุม ดังนั้นจึงต้องลดอัตรานายพลลงบ้าง เงินกองทัพจะได้เหลือเพิ่มเงินเดือนให้พลทหาร นายสิบนายร้อย ที่อยู่ชายแดน พื้นที่เสี่ยงภัย