สภานายจ้างฯชี้ ตลาดแรงงานปี 63 เสี่ยงหนัก หวั่นเลิกจ้างเพียบ พิษเทรดวอร์ส่อส่งออกติดลบ

วันที่ 8 ตุลาคม 2562 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานไทย ว่า ขณะนี้การจ้างแรงงานของไทยที่เริ่มชะลอตัวลง จากแรงงานไทยประมาณ 37.6 ล้านคนคิดเป็น 56.5% ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากปัญหาสงครามการค้า(เทรดวอร์)ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนการส่งออกของไทยปี 2562 มีโอกาสติดลบ 1.5-2% ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาคือความเสี่ยงของตลาดแรงงานปี 2563 จะมีมากขึ้นเมื่อนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบอีก 5.24 แสนคนช่วงมีนาคม-เมษายน 2563 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 9.27% อาจต้องประสบกับภาวะการว่างงานที่สูงขึ้น ขณะเดียวันพบว่า ตลาดแรงงานในหลายภาค อาทิ ส่งออก การผลิต การบริการ โลจิสติกส์ ค้าปลีกและค้าส่ง อยู่ในช่วงชะลอตัว มีการลดการรับแรงงานใหม่ และบางส่วนมีการปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เอไอ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้การจ้างงานลดลงจึงเป็นสิ่งที่ต้องมองความเสี่ยง ดังนั้นรัฐบาลเองต้องประคับประคองด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบริโภคภายใน

นายธนิตกล่าวว่า ผลกระทบที่มีต่อภาคแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณการปิดโรงงานและการเลิกจ้างที่ชัดเจน ล่าสุดมีแนวโน้มเห็นได้อีกในโรงงานที่มุ่งส่งออกและได้รับผลกระทบโดยตรงต่อคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว อาทิ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง แต่จะมากน้อยเพียงใดก็คงต้องติดตามใกล้ชิด โดยสัญญาณการเลิกจ้างจะเริ่มจากมาตรการเบาไปจนถึงการให้ออกจากงานด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การเริ่มไม่รับพนักงานคนใหม่ การใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรออโตเมชั่น การเลิกใช้บริการเอาต์ซอร์สที่เกี่ยวกับแรงงาน การลดค่าล่วงเวลาหรือโอที การลดชั่วโมงการทํางาน การปิดไลน์การผลิตหรือปิดสาขาที่ไม่จำเป็น การลดแรงงานกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงทดลองงานไม่ ถึง 4 เดือน การมีโครงการเกษียณก่อนเวลาหรือสมัครใจลาออกแรงงานที่มีความเสี่ยง

นายธนิตกล่าวว่า ปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไป ได้แก่ 1. การเริ่มสู่ยุคดิจิทัลที่เน้นเทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้น 2.เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 3.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และ 4.การว่างงานของไทยแม้อยู่อันดับ 7 จาก 181 หรือว่างงานเฉลี่ย 1.1-1.2% แต่แรงงานของไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ไม่นับว่าว่างงาน ทำให้ไทยมีการว่างงานในเกณฑ์ต่ำ