‘อนุทิน’ แจง ครม.ไม่ลงพื้นที่น้ำท่วม หวั่นสร้างภาระ ยัน จนท.ทำสุดความสามารถ

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามผลกระทบน้ำท่วม ว่า ขณะนี้สถานการณ์หนักสุดอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ส่วนจังหวัดอื่นๆ สถานการณ์คลี่คลายอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ทั้งหมดแล้ว สถานพยาบาลทุกระดับให้บริการประชาชนเต็มที่ แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข ยา และเวชภัณฑ์ มีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะเป็นสถานการณ์พิเศษ อย่างไรก็ตาม จ.อุบลฯ ยังมี รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล 5 แห่งที่ยังรับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ รพ.อื่นให้บริการได้ทั้งหมด ยาและเวชภัณฑ์ก็พร้อม

นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้ สธ.ให้ความสำคัญกับการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ เพราะมีหลายคนเครียด ซึ่งเกิดจากสภาวะทางจิตใจจากการถูกกดดัน ตั้งแต่ภัยแล้ง จนน้ำท่วม หลายท่านแบกรับความเครียดไม่ได้ ก็มีการส่งทีมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตอย่างเต็มที่ ซึ่งมีประมาณ 300 ราย โดยจำนวนนี้มีผู้ที่เข้าข่ายอาการหนักหน่อยจำนวน 19 รายที่เสี่ยงฆ่าตัวตาย จึงสั่งการให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ประจำอยู่ในพื้นที่ ไม่ให้กลับกรุงเทพฯ และให้พบผู้มีความเสี่ยงทั้ง 19 ราย ถ้าเป็นไปได้ให้เชิญมารับการบำบัดอย่างเร่งด่วนในรพ.ของ สธ. ซึ่งให้เป้าหมายไปแล้วว่า ห้ามมีข่าวไม่ดีเด็ดขาดจากความเครียด

เมื่อถามถึงกรณีคนแห่ช่วยจำนวนมากจนเป็นธารน้ำใจ นายอนุทิน กล่าวว่า ดีใจที่ทุกฝ่ายช่วยเหลือไม่ว่ารูปแบบใด ไม่มีใครผิดใครถูกทั้งนั้น ทุกคนทำตามมนุษยธรรม ทุกคนทำถูกหมด ถ้าจะดีหน่อยก็กรุณาอย่าเปรียบเทียบกันเลย ต่างคนต่างมีภาระหน้าที่ที่ทำอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ว่าหน่วยงานไหนที่ขึ้นชื่อว่า ข้าราชการก็ทำงานสุดความสามารถ

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนที่ ครม.ไม่ได้ลงไปในพื้นที่ เพราะทราบว่าลงไปก็สักแต่สร้างภาระเพิ่มเติม แทนที่คนจะไปดูแลพี่น้องประชาชน ต่อให้ห้ามอย่างไรเขาก็ต้องมาดูแลผู้ใหญ่บ้านเมือง เราไปอยู่ตรงนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย ทำอะไรก็ไม่ได้ แต่อยู่ตรงนี้แล้วคอยช่วยอนุมัติ คอยตัดสินใจ เช่น เทเลคอนเฟอเรนซ์ มีปัญหาตรงไหนเราเอาของจากที่หนึ่งไปเติมได้เลย สามารถระดมพลได้ สั่งการได้ พูดแค่นี้คงเข้าใจ

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แม้ที่บ้านตนเองจะถูกน้ำท่วมก็ยังออกปฏิบัติงานให้การดูแลประชาชนเต็มที่ ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสำรวจความเสียหายของสถานบริการที่ได้รับผลกระทบ และบ้านเรือนของเจ้าหน้าที่ แจ้งมาที่ส่วนกลางเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซม ที่สำคัญขอให้ผู้บริหารดูแลเจ้าหน้าที่ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งด้านสุขภาพร่างกายและด้านจิตใจ เนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้ค่อนข้างนาน เจ้าหน้าที่อาจมีภาวะเครียด

ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ท่านรองนายกฯ และรมว.สาธารณสุขได้มีการกำชับเรื่องการป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่มีความผันแปรตามสภาพแวดล้อม แยกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.โรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่ต่อให้น้ำไม่ท่วมก็มีการระบาด แต่หลังน้ำท่วมจะทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น จึงเสี่ยงมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นด้วย 2.โรคระบบทางเดินอาหาร ท้องเสีย อุจจาระร่วง เพราะในช่วงที่น้ำท่วมซึ่งเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และระบบขับถ่ายต่างๆ เสี่ยงที่จะเกิดเชื้อโรคปนอยู่ตามสิ่งแวดล้อมช่วงหลังน้ำลด

และ 3.โรคฉี่หนู ที่เชื้อโรคจะปนอยู่ตามสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ยิ่งพอน้ำลดประชาชรจะกลับเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือน ไร่นา อาจจะเกิดบาดแผลได้ ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้สามารถเข้าไปตามบาดแผลได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการเฝ้าระวัง ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีการดำเนินการมาตลอด เมื่อเทียบกับการดูแลน้ำท่วมในปีที่ผ่านๆ มา ก็สามารถควบคุมป้องกันโรคได้ ไม่มีผู้ป่วยมากอย่างมีนัยสำคัญ ผลสำเร็จอาจจะเป็นเพราะประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และเจ้าหน้าที่มีการทำงานเชิงรุก แต่จำเป็นที่ต้องมีการกำชับเรื่องเหล่านี้อีกครั้งเพื่อหวังที่จะลดการเจ็บป่วยให้มากที่สุด หรือหากมีการเจ็บป่วยจะต้องลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการแพร่ระบาด