“ภูมิใจไทย” ระดมความเห็นกม.กัญชาครั้งสุดท้าย เตรียมดัน “สถาบันพืชยาเสพติดฯ

“ภูมิใจไทย” ระดมความเห็นกม.กัญชาครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอสภาฯก่อนปิดสมัยประชุม เตรียมดัน “สถาบันพืชยาเสพติดฯ” ดูแลพืชยาเสพติดทุกชนิด รวม “ฝิ่น” ด้วย ด้าน “รสนา – ปานเทพ” หวั่น รัฐผูกขาด ปิดกั้นแพทย์แผนไทยพัฒนา แนะ หั่นบทเฉพาะกาล 5 ปี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เปิดทางแพทย์แผนไทยปลูก – ใช้ ในสถานพยาบาล ชี้ เสียดายทรัพยากร คนมีความรู้ไม่มีของไว้ใช้

วันที่ 7 กันยายน ที่ห้องประชุมชั้น 3 พรรคภูมิใจไทย มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายกัญชาในการแก้ไขกฎหมายกัญชาเสรี โดยมีนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย(ภท.) เป็นประธาน ผู้ร่วมเสวนา อาทิ นพ.สำเริง แหยงกระโทก กรรมการผู้ช่วยรมว.สาธารณสุข นายบัณฑูร นิยมาภา หรือ ลุงตู้ ปราชญ์ชาวบ้านด้านกัญชา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลังรังสิต น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น ดำเนินรายการโดย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย

นายสรอรรถ กล่าวว่า การรับฟังความเห็นในวันนี้เพื่อให้ร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาเสรีออกมาตรงตามความต้องการของประชาชน เบื้องต้นมีร่าง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ … พ.ศ. … และ ร่างพ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ. … อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังไม่สมบูรณ์จนกว่าการหารือในวันนี้จะเสร็จสิ้น จากนั้น พรรคจึงจะนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อนปิดสมัยประชุมนี้ แต่จะหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาเมื่อใดนั้น ต้องหารือกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ความสับสนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข มีความกังวล เพราะท่านบอกว่าท่านเป็นคนรักษาคำพูด อะไรที่เคยหาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชนในช่วงการเลือกตั้งก็พยายามทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด แต่เป็นเรื่องน่ายินที่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญ และตอบสนองนโยบายในการปรับเปลี่ยนบางอย่างที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้อง โดยทุกอย่างต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน

ด้าน นายศุภชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในมุมมองของภาครัฐหรือกติกาโลก ยังมองว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามอนุสัญญาที่เราเป็นภาคีสมาชิก หลังผ่านการเลือกตั้ง ตนทราบว่าประชาชนร้อนใจว่าเมื่อไหร่พรรคภูมิใจไทยจะทำเสียที ซึ่งต้องชี้แจงว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกตนไม่ได้อยู่นิ่ง แต่ต้องทำและศึกษาด้วยความระมัดระวังอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และเป็นที่ยอมรับในกติกาโลก โดยตั้งแต่นายอนุทินดำรงตำแหน่งรมว.สาธารณสุข ได้พยายามขยับเรื่องยากัญชาอย่างเต็มที่ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากข้าราชการ ดังนั้น จึงไม่มีการขัดกันระหว่างพรรคการเมืองและหน่วยงานราชการ ทำให้วันนี้ประชาชนสามารถใช้ยาจากกัญชาได้ในระดับหนึ่ง และในฐานะส.ส.วันนี้เราได้เสนอกฎหมายตามที่เคยสัญญาไว้กับประชาชน ทั้งนี้ เนื่องด้วยสภาฯจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 กันยายนนี้ ตนและคณะจึงได้ร่างกฎหมายตามนโยบายต่างๆที่เคยหาเสียง เช่น แก้หนี้กยศ. ระบบกำไรแบ่งปัน รวมแล้วมากกว่า 10 ฉบับ โดยนายอนุทินในฐานะหัวหน้าพรรคจะยื่นกฎหมายทุกฉบับพร้อมกันภายในสมัยประชุมนี้ และวันนี้จะเป็นการประชุมรับฟังความเห็นเป็นครั้งสุดท้าย

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สิ่งที่ได้บรรจุไว้ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นการต่อยอดจากที่รัฐบาลชุดที่แล้วที่ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 ซึ่งคลายเรื่องกัญชามาเยอะ โดยวันนี้เรามาพูดเรื่องการปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ซึ่งตนได้เสนอร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เพิ่มเติมเรื่องที่คนไทยสามารถปลูกเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ผลิต และจำหน่าย ได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัวไว้ ส่วนผู้ที่เป็นห่วงเรื่องการควบคุมนั้น ครั้งนี้ตนได้เสนอร่าง พ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรใหม่เพื่อเข้าควบคุมกำกับ วิจัยพัฒนา และอนุญาตเกี่ยวกับพืชยาเสพติด

“ดังนั้น ตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะกัญชา แต่องค์กรนี้สามารถดูแลพืชยาเสพติดอื่น อีกทั้งสามารถอนุญาตให้ปลูกฝิ่นก็ได้ เพราะผมทราบมาว่าฝิ่นนั้นสามารถใช้ผลิตมอร์ฟีนได้ วันนี้มอร์ฟีนที่ใช้กันทั้งโลกนั้นมาจากฝิ่น แต่เป็นคนละอย่างกับที่ผลิตเป็นเฮโรอีน วันนี้เราปลูกฝิ่นไม่ได้ แต่พื้นที่ของประเทศเราเหมาะสมแก่การปลูกฝิ่น ถ้าประเทศสามารถปลูกฝิ่น และนำไปผลิตเป็นมอร์ฟีนได้จะเป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลก และเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงชื่อว่า พ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติด ไม่ใช่สถาบันกัญชาแห่งประเทศไทย” นายศุภชัย กล่าว

ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสถานะและการดำเนินงานของสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ว่ามีลักษณะเป็นองค์กรแบบใด มีหน้าที่รับซื้อและขายเองทั้งหมดหรือไม่ หากชาวบ้านปลูกแล้วต้องขายให้กับสถาบันพืชยาเสพติดฯใช่หรือไม่ ที่สำคัญหากแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน ปลูกกัญชาแล้วใช้เองได้หรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าสถาบันพืชยาเสพติดฯ จะเป็นหน่วยงานใหม่ที่มาผูกขาดการรับซื้อ รวมถึงกระบวนการจัดการขายทั้งหมดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าโรงพยาบาลจะไม่กล้าสั่งจ่ายกัญชาในการรักษาโรคเพราะหมอกลัว หมอจะกล้าใช้กัญชาในการรักษาต่อเมื่อมีการจดสิทธิบัตรยา ปัญหาคือคนที่มีภูมิความรู้เดิม เช่น แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน ปัจจุบันไม่ได้รับความสนใจ ไม่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนา ทั้งที่เรื่องของกัญชาภูมิความรู้จะอยู่ที่แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน แต่กฎหมายไม่เปิดทางให้แพทย์แผนไทยพัฒนาความรู้ของตัวเองได้เลย ซึ่งแพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้านเท่านั้นที่จะสามารถพัฒนากัญชาเพื่อสู้กับสิทธิบัตรของต่างชาติได้ หากไม่เปิดโอกาสให้พัฒนา ไม่มีทางที่เราจะสู้กับสิทธิบัตรต่างชาติได้แน่นอน อย่างดีที่สุดที่ไทยจะทำได้คือไปซื้อสิทธิบัตรจากต่างชาติมาแล้วเราไปทำยาเลียนแบบ โดยที่ไม่สามารถทำตำรับยาเป็นสิทธิบัตรของคนไทยได้เอง ทั้งหมดคือความเป็นห่วง และเป็นสิ่งที่พรรคภูมิใจไทยจะต้องตอบคำถามให้ได้ ว่าไม่ได้ตั้งสถาบันพืชยาเสพติดฯขึ้นมาผูกขาดแทนรัฐ โดยไม่เปิดทางให้แพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน เติบโตขึ้นมาหรือไม่

ขณะที่ นายปานเทพ กล่าวว่า สถาบันพืชยาเสพติดฯควรเป็นลักษณะองค์กรมหาชน เพราะต้องการความคล่องตัวให้สามารถดำเนินการได้จริง และยังต้องอยู่ภายใต้กติกาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนแพทย์พื้นบ้านเราจะออกแบบอย่างไรให้ผู้มีความรู้ได้ใช้จริง เรากำลังเป็นห่วงว่าทรัพยากรอันมีค่าจะตกอยู่ในมือภาครัฐทั้งหมด แล้วไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

“แพทย์แผนปัจจุบันจะทำตามงานวิจัยข้อบ่งใช้สิทธิบัตรต่างชาติแล้ว เพราะไม่กล้าเสี่ยงที่จะใช้ เท่ากับว่าเรามีของดีอยู่กับคนที่กลัวการใช้ แต่คนที่กล้าใช้ไม่มีของให้ใช้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องการช่วงชิงผลประโยชนทางการค้าระหว่างประเทศด้วย ผมเห็นว่าควรยกเลิกมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 กำหนดบทเฉพาะกาล 5 ปี ให้การผลิตกัญชาทางการแพทย์ในประเทศเป็นภาครัฐดำเนินการฯ เพราะรัฐมีความกังวลในการใช้ การดำเนินการ เพราะเป็นข้าราชการ ผลคือช่วง 5 ปี เราจะไม่เกิดการพัฒนา และจะพัฒนาไม่ทันสิทธิบัตรต่างชาติ ฉะนั้น ควรเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยปลูกเพื่อปรุงยาในสถานพยาบาลของเขาได้ ซึ่งยังเป็นประโยชน์ทางการแพทย์อยู่ พร้อมกับยกระดับคนที่ใช้เก่ง ใช้ได้ผล ให้เป็นแพทย์พื้นบ้าน ถ้าทำแบบนี้ประเทศไทยจะรอด กัญชงจะเกิด เศรษฐกิจจะเกิด” นายปานเทพ กล่าว