‘อังคณา’ ออกจดหมายถึงรัฐบาล-สภา ฟื้นร่าง กม.ป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม สืบเนื่ององค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสากลแห่งการรำลึกถึงเหยื่อของการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าของรางวัลแมกไซไซคนล่าสุด และภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ที่หายตัวไปหลังจากถูกพาตัวไปจากรถยนต์ส่วนตัว โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ที่กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีผู้ใดพบเห็น ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง 4 ข้อต่อรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในฐานะครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย พบว่า มีปัญหาและอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรมและความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อ โดยเฉพาะอุปสรรคทางกฎหมายเนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายในความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายและเอาผิดต่อผู้กระทำผิด

นางอังคณาระบุว่า แม้ที่ผ่านมารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้ลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) ขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 และต่อมาได้มีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ รวมถึงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย พ.ศ. … ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 และได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แต่ สนช.ใช้เวลาพิจารณาอย่างล่าช้า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยการตัดเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญหลายประเด็นที่เป็นหลักประกันสำคัญทางกฎหมายในการป้องกันและยุติการบังคับสูญหายออกไป นอกจากนั้นในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ของ สนช. ยังขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงผู้ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญ และในที่สุดร่าง พ.ร.บ.ทรมานและบังคับสูญหายก็ตกไปโดยไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นการก้าวถอยหลังอย่างยิ่งของรัฐบาลไทยในการดำเนินการตามคำมั่นที่ได้รับปากรับคำไว้

นางอังคณากล่าวต่อว่า แม้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน แต่ผ่านมาสองปีเศษ คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็แทบไม่สามารถเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายและคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวได้ โดยเฉพาะกรณีการบังคับสูญหายที่มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน เช่น กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร นายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายกมล เหล่าโสภาพันธ์

“ในโอกาสวันสากลเพื่อรำลึกถึงเหยื่อของการสูญหายโดยถูกบังคับ ดิฉันจึงเขียนหนังสือเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อย้ำเตือนและเรียกร้องต่อรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมนำร่างเดิมที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยของทุกภาคส่วนของสังคมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อนำกลับมาพิจารณาใหม่ 2.เนื่องจากการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานควรดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อติดตาม และเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคนรวมถึงให้การเยียวยาแก่ครอบครัวทั้งการเยียวยาด้านกฎหมาย และการเยียวยาที่ไม่ใช่ทางกฎหมาย (judicial & non judicial remedy) ทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รอบคอบ อิสระ ยุติธรรม และที่สำคัญจะต้องมีความโปร่งใส และญาติจะต้องทราบว่ากระบวนการสอบสวนมีความก้าวหน้าหรือไม่อย่างไร

“3.ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำร่างที่กระทรวงยุติธรรมได้รับฟังความเห็นจากประชาชนกลับมาพิจารณา โดยให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์ด้านการบังคับสูญหายเพื่อให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ และเพื่อให้สามารถคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหายได้จริง และ 4.ในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ความมั่นใจต่อประชาชนว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีความจริงใจ เต็มใจ และมีเจตจำนงทางการเมืองเพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ” นางอังคณากล่าว

นางอังคณากล่าวว่า ในทุกๆ ปีครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายต้องลุกขึ้นมาถามหาความเป็นธรรมและความจริงใจจากรัฐ ทั้งที่รัฐมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกคน ในฐานะครอบครัวดิฉันไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการทวงถามความเป็นธรรม แม้เสียงของดิฉันจะไม่ดังไปถึงผู้มีหน้าที่และอำนาจในการอำนวยความยุติธรรม แต่เรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยจะไม่สามารถปกปิดได้ และจะบอกถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมและความไม่จริงใจของรัฐบาล วันนี้รัฐบาลและรัฐสภาไทยกำลังถูกท้าทายระหว่างความกล้าหาญในการยืนยันหลักการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน บางกลุ่มที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการลักพาตัวและบังคับให้บุคคลสูญหาย