ส.ส.ประจวบฯนัดถกแกนนำสวนมะพร้าว แก้ราคาตก เจ้าของสวนจวก รัฐแก้ปัญหาปลายเหตุ

สส.ประจวบฯนัดเจรจาแกนนำชาวสวนแก้ไขปัญหาราคามะพร้าว เจ้าของโรงงานจวกรัฐแก้ปัญหาปลายเหตุไม่ทบทวนความผิดพลาดนำเข้ามะพร้าวนอก

วันที่ 29 สิงหาคม นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส. จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ประธานอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าว สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังการหารือร่วมกันกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อออกมาตรการควบคุมเพื่อแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวราคาตกต่ำ มีการคุมเข้มใบอนุญาตขนย้าย โรงงานต้องกำหนดพื้นที่กะเทาะ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายประการเช่นการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นตามกรอบการค้าที่เกี่ยวข้องและยึดระยะเวลาการคืนภาษีจากการส่งออก รวมทั้งการกำหนดให้ซื้อมะพร้าวไทยควบคู่ตามสัดส่วนการนำมะพร้าวนอกเข้ามาผลิตในโรงงานกะทิ

“สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เสนอให้รัฐมนตรีเกษตรและพาณิชย์รับทราบแล้ว และได้นัดหารือชี้แจงความคืบหน้าในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ที่ ต.ธงชัย อ.บางสะพาน ยืนยันว่าบางเงื่อนไขอาจมีปัญหา เช่น การตรวจ ดีเอ็นเอ มะพร้าวเพื่อตรวจสอบมะพร้าวเถื่อน จะต้องใช้เวลาวิจัยหลายปี สำหรับการเสนอชื่อตัวแทนเครือข่ายฯไปทำหน้าที่ในกรรมการพืชน้ำมันฯ ยอมรับว่าเห็นด้วย เพื่อให้มีตัวแทนเกษตรกรเข้าไปเสนอความเห็น แต่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด”นายประมวล กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ แกนนำเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การออกมาตรการล่าสุดไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาในภาพรวม เป็นข้อเสนอเก่าที่ยื่นข้อเสนอเรียกร้องนานแล้ว บางเรื่องยังล้าหลัง เช่น การออกใบกำกับการเคลื่อนย้ายกำหนดไว้ใน 8 จังหวัดชายแดน แต่เครือข่ายฯได้เสนอให้ออกใบกำกับการเคลื่อนย้ายมะพร้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศไม่เกิน 4 ตัน จากการประเมินเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการดังกล่าวเพื่อควบคุมการนำเข้ามะพร้าวนอกมากกว่าการช่วยเหลือเกษตรกร

นายสายชล จ้อยร่อย เจ้าของ บริษัท นิลทองแท้ จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวขาวมากที่สุดในประเทศ หมู่ 3 ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ปัญหามะพร้าว โดยควบคุมใบอนุญาตขนย้าย โรงงานต้องกำหนดพื้นที่กะเทาะเนื้อมะพร้าว เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ โดยไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต จากการอนุมัตินำเข้าตามกรอบการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) หรือ กรอบการค้าโลก(WTO ) นำเข้านอกโควต้า มีการนำเสนอข้อมูลพื้นฐานนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดส่งผลกระทบกับราคามะพร้าวในประเทศ ทั้งที่หน่วยงานรัฐต้องทบทวนการทำงาน หากไม่อนุญาตนำเข้ามะพร้าวนอกมากเกินไปหรือพิจารณานำเข้าให้เหมาะสมจะไม่ส่งผลกระทบกับชาวสวนในประเทศในระยะยาว

“ การกำกับดูแลให้การนำเข้าต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตแล้วส่งออกเท่านั้น ไม่นำไปออกไปปะปนกับการขายมะพร้าวหัวขูดในประเทศช่วงที่ราคามะพร้าวในประเทศมีราคาสูง ไม่ปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้ามะพร้าเถื่อนโดยไม่ควบคุม หากเข้มงวดก็ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการให้ยุ่งยากโดยเฉพาะการออกใบเคลื่อนย้ายอาจเป็นปัญหาที่เป็นช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่บางหน่วย การกำหนดพื้นที่กะเทาะมะพร้าวอาจมีผลกระทบกับการจ้างแรงงานจำนวนมากในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ปัจจุบันมะพร้าวผลใหญ่ราคาผลละ 11 บาท ราคามะพร้าวขาวกิโลกรัม( กก.) ละ 22 – 23 บาทและวัตถุดิบในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ” นายสายชล กล่าว