วันนอร์ ลั่น 7 เสียงประชาชาติ ไม่มีงูเห่า คำไหนคำนั้น สัญญาปชช.ไว้ ยื่นตรงข้ามเผด็จการ

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ แสดงความเห็นทางการเมืองเรื่องเขตปลอดงูเห่า โดยระบุว่า

“งูเห่า” เป็นสัตว์อันตราย นิสัยดุร้าย พิษร้ายแรง และถือเป็นภาวะวิกฤตทันทีหากมนุษย์ถูกงูเห่าฉก พวกเรามักคุ้นกับ “งูเห่านวล” “งูเห่าหม้อ” เพราะพบเห็นบ่อยครั้งในเมืองไทยเรา

อย่างไรก็ตาม “งูเห่า” ก็คือสัตว์อันตรายอยู่วันยังค่ำ เชื่อว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ทุกๆคน คงไม่อยากเห็นลูกๆหลานๆอยู่ใกล้งูเห่า หรือแม้แต่ตนเองก็ไม่อยากคลุกคลีกับมัน ด้วยพิษสงอันตรายของมันนั้ันเอง

“งูเห่า” ถูกนำมาเปรียบเปรยจนกลายเป็นศัพท์การเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541 หรือ 20 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งสภาผู้แทนราษฏรจำต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีท่านใหม่

โดย “ท่านสมัคร สุนทรเวช” หัวหน้าพรรคประชากรไทยในขณะนั้น เรียกขานกลุ่มของ”วัฒนา อัศวเหม” ที่เป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยด้วยกัน แต่กลับโหวตนายกรัฐมนตรี”คนละคนกัน”

ท่านสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย โหวตให้กับ “พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ” เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนกลุ่มวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13 เสียงสนับสนุน “ท่านชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรี

สุดท้าย “ท่านชวน หลีกภัย” ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามเสียงโหวตในสภาผู้แทนราษฏร ซึ่ง 13 เสียงของกลุ่มวัฒนา อัศวเหมนั้นเป็น “ตัวแปร” สำคัญปัจจัยหนึ่งของการออกเสียงดังกล่าว

ความเห็นที่แตกต่างครั้งนั้น นำมาซึ่งความบาดหมางทางความคิด ความขัดแย้งทางการเมือง แม้ว่าจะอยู่ในพรรคเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นความเห็นต่างรุนแรงที่กลายเป็นตำนาน “งูเห่า” อันเลื่องชื่อนั้นเอง

และได้กลายเป็น “นิยามศัพท์ทางการเมืองไทย” ที่หมายความถึง “สมาชิกพรรค” หรือ “สมาชิกฝ่าย” ที่แปรเปลี่ยนจุดยืนหรือสลับขั้วสวนทางกับหัวหน้าพรรค หรือจุดยืนที่ได้ประกาศไว้

หากจะพูดในภาษา “นักเลง” คำที่ใกล้เคียงน่าจะเป็น “หักหลัง” คนไทยส่วนมากก็จะร้อง “อ๋อ โดยทันที”

ผมเชื่อมั่นมาตลอดว่า “จุดยืน” นั้นสำคัญมากในทางการเมือง

สังเกตมาหลายครั้ง หลายหนแล้วว่า นักการเมืองผู้ใดที่ไม่มี “จุดยืน” ที่มั่นคง โลเล หรือตั้งเป้าหมายไว้ซึ่งผลประโยชน์เป็นหลักมากกว่าความสัตย์ และความไว้วางใจจากประชาชน

นักการเมืองผู้นั้น มักจะอยู่ไม่ได้นาน หรืออยู่ไปก็อยู่ท่ามกลางความไร้เกียรติ ผู้คนอดสู สังคมลงโทษด้วยการเวทนา หรือเผลอๆ จะนับว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งความโชคร้ายของประเทศ” เลยทีเดียว

เพราะจุดยืนนั้นวัดได้ทันทีเลยว่าคนไหนมีอุดมการณ์อย่างไร แม้ว่าจะอุดมการณ์ต่างกัน แต่ถ้ามีจุดยืนที่มั่นคงชัดเจน ก็นับหน้าถือตาเป็นที่เคารพกันได้ เพราะ “มั่นคงในจุดยืน” มักสร้างเกียรติให้กับผู้ดำรงไว้เสมอ

และเกียรติใดเล่า จะเสมอเหมือนดังเกียรติที่ได้มาจากประชาชน

พรรคประชาชาติจึงตั้งมั่นตั้งแต่ต้นแล้วว่า “เราจะสนับสนุนอำนาจประชาชน” ไม่เฮโลโปฮากับอำนาจเผด็จการ หรือการพยักหน้ากับการสืบทอดอำนาจ

เพราะ “จุดยืน” นี้ ทำให้เราชัดเจนในบทบาทท่าที เราประกาศตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่าจะไม่ร่วมมือกับการสืบทอดอำนาจที่มิได้มาจากประชาชน ลงสัตยาบันแบบไหน เราก็มิได้ผิดจากคำสัญญาที่ให้ในฉบับนั้นเลย

แม้จะมีความพยายามในการชักจูง ล่อลวงด้วยอำนาจ ทรัพย์ คำสัญญาว่าด้วยผลประโยชน์ทั้งหลายจากฝ่ายใด ก็มิได้ทำให้ “จุดยืน” ที่เราปักไว้ ไขว้เขว่ลงเลย นี่คือสิ่งที่ประชาชาติได้แสดงออกให้สังคมได้รับรู้ และเราก็ยินดี เดี๋ยวนี้สมาชิกพรรคประชาชาติเขาภูมิใจในการเป็นสมาชิก เพราะเขามีศักดิ์ศรี พรรคที่ตนเองสังกัดไม่โกหกประชาชน ไม่มดเท็จเพื่อผลประโยชน์จากการสืบทอดอำนาจ

การเมืองไทยที่ผู้คนเบื่อหน่าย พูดตรงไปตรงมา ก็มาจากพฤติกรรม “งูเห่า” ที่ตรงข้ามประชาชนนี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเมื่อเข้าสภาแล้วอ้างมาจากประชาชน แต่การกระทำกลับสวนทางหรือไม่ฟังประชาชน เช่นนี้แล้ว “สภาผู้แทนราษฏร” จะมีคำว่า “ผู้แทน” ไปทำไม เพราะผู้แทนนี่ถ้าไม่ยึดโยงกับราษฏร ก็อย่าเรียกตนเองว่าเป็น “ส.ส.” เลย เรียก “ผู้แทนตนเอง” ยังจะง่ายกว่าซะอีก

พูดให้ชัดๆ ว่าพรรคประชาชาติ เรายึดมั่นในจุดยืนที่ให้ไว้กับประชาชน เราถือว่า “เกียรติและความศรัทธา” จากประชาชนนั้นมีคุณค่า จะมาย่ำยีเมื่อผลประโยชน์ส่วนตนถูกเสนอลอยมาจากผู้หวังประโยชน์อื่นจากประชาชน แบบนี้ผมถือว่าไม่ถูกต้อง เป็นบาป และผิดเจตนารมย์ของการเป็นพรรคการเมืองที่ดี

แม้วันนี้เราจะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏร 7 ที่นั่ง แต่ผมมั่นใจ ภูมิใจ ที่ทั้ง 7 ที่นั่งที่มีอยู่นี้ คือผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างถูกต้อง และเป็นผู้ที่ไม่บิดพริ้วจากความไว้วางใจของประชาชนนั้นอย่างผิดทำนองคลองธรรม พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น

ฉะนั้น อย่ามาถามหา “งูเห่า” ในพรรคประชาชาติ เพราะบ้านเรา พรรคเรา เป็น “เขตปลอดงูเห่า” ครับ !

22 สิงหาคม 2562
กรุงเทพมหานคร