“เพื่อไทย” แถลงจี้อ”ชวน” บรรจุญัตติสอบกก.สรรหาส.ว. ขู่ ไม่บรรจุ เข้าข่ายผิด ม.157

“เพื่อไทย” แถลงจี้อ”ชวน” บรรจุญัตติ สอบปมกรรมการสรรหา ส.ว. ขู่ หากไม่บรรจุ อาจเข้าข่ายผิด ม.157

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคพท. และนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรค แถลงถึงกรณีการบรรจุญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบกรรมการสรรหาส.ว. ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะแสดงบทบาทตามอำนาจหน้าที่ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นโดยนำพาประชาธิปไตยไปในทางที่ถูกต้อง ตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการสัมมนาส.ส.ที่ห้องประชุมทีโอทีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า “เราจะเป็นแบบอย่างของสภานิติบัญญัติในยุคที่การเมืองพัฒนามาถึงขนาดนี้ เราได้เป็นประชาธิปไตยมาเกือบ 90 ปี เราจะให้ประชาธิปไตยถอยหลังเป็นสิ่งที่ไม่ควร ต้องเดินไปข้างหน้าในสิ่งที่ดีขึ้น” ฟังคำพูดประโยคเหล่านี้แล้วถ้ามองอย่างผิวเผินก็จะรู้สึกว่านายชวนพูดดี แต่เมื่อมาดูสภาพการเมืองในปัจจุบันที่พรรคไร้สัจจะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลและสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เป็นนายกมนตรี โดยนายชวนเป็นประธานสภาฯ และเป็นประธานรัฐสภาอีกตำแหน่งย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองได้ถอยหลังไปอย่างมากตลอด 5 ปีนับแต่คสช.ทำรัฐประหารปี 2557 และแม้จะผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มาแล้ว แต่ประชาธิปไตยก็ยังไม่มีอนาคตจะพัฒนาไปข้างหน้าได้เลย เพราะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กำลังสืบทอดอำนาจเผด็จการคสช.ให้อยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปีตามบทเฉพาะกาลโดยมีวุฒิสภาซึ่งตนเองแต่งตั้งมา เป็นเครื่องมือคอยค้ำบัลลังก์อำนาจ

นางลดาวัลลิ์ กล่าวว่า เมื่อองค์ประกอบของรัฐสภาอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยพิการและเสียศูนย์ การทำหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชนและทำให้ประชาชนเชื่อมั่นย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ พรรคพท. หวังว่ารัฐสภาที่มีนายชวนเป็นผู้นำสูงสุดจะไม่เกิดเหตุการณ์จลาจล ที่ส.ส.ก่อเหตุเลวร้ายขว้างปาแฟ้มเอกสารเศษกระดาษเกลื่อนห้องประชุม ตะโกนลั่น ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดึงแขน ลากเก้าอี้ประธานสภาฯกระแทก บีบคอเพื่อนส.ส.ด้วยกัน โดยไม่แยแสต่อสายตาประชาชนและสื่อมวลชนที่บันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ ซึ่งเป็นความอัปยศของสภาฯไทยที่ไม่อาจลบเลือนไปได้

นางลดาวัลลิ์ กล่าวอีกว่า ไม่มีเหตุผลใดที่นายชวน จะปฏิเสธไม่บรรจุญัตติของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษา สอบสวนกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า การกระทำการพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงหรือการศึกษาเรื่องใดๆ เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภาฯ ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯสมัยที่ 2 บนตำแหน่งหัวหน้าคสช. มีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. 9-12 คน และคัดเลือก ส.ว.ให้ได้ 250 คน เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ รวมทั้งหัวหน้าคสช. ต้องประกาศ รายชื่อสำรอง ส.ว. แต่ปรากฏว่าพล.อ.ประยุทธ์ และคสช.ปกปิดคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่นำคำสั่งไปประกาศในราชกิจจาฯ และกระบวนการการหาส.ว.หลายขั้นตอน ส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ หากเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้การสรรหาส.ว.เป็นโมฆะ กรณีนี้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนและสื่อมวลชน ดังนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาและสอบสวนหาข้อเท็จจริง แล้วนำมารายงานให้สภาฯรับทราบ จึงเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร

“ญัตติของพรรคฝ่ายค้านไม่ใช่การตรวจสอบคุณสมบัติส.ว. แต่เป็นการตรวจสอบกระบวนการสรรหา ส.ว. เป็นการใช้อำนาจของ พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช.และ คสช.คนอื่นๆ รวมทั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. ซึ่งไม่ได้มีความเป็นกลางทางการเมือง ว่าสิ่งที่ทำมานั้นชอบด้วย รธน.หรือไม่ หรือผิดพลาดบกพร่องในขั้นตอนไหนอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ส.ว. ไม่ต้องร้อนตัว หรือหวาดกลัวใดๆ หากทุกท่านผ่านการสรรหามาอย่างถูกต้องโปร่งใส ตามรัฐธรรมนูญ” นางลดาวัลลิ์กล่าว

ด้านนายชุมสาย กล่าวว่า ตนยังเห็นว่ากระบวนการสรรหา ส.ว. ที่มีคณะกรรมการสรรหาเป็น คสช.ตามที่เป็นข่าวนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์และความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายค่อนข้างชัดเจน ส่งผลให้ สถานะของ สว.ตลอดจน การกระทำหรือการลงมติใดๆ ของ สว.ดังกล่าวเป็นโมฆะไปด้วย ซึ่งเมื่อได้โหวตเห็นชอบให้พลเอกประยุทธ์ฯ เป็นนายกซึ่งเป็นครั้งแรกของการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องถือว่าไม่มีผลใดๆ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และหลังจากนี้หากมีการนำประเด็นนี้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้องด้วยอาจจะพังกันทั้งองคาพยพ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของวุฒิสภาตามรธน.มาตรา210(2) ส่วนตัวเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว เมื่อสิ้น มาตรา 44 และอำนาจเผด็จการอ่อนกำลังลง กระบวนการยุติธรรมไทยจะต้องรักษาบ้านเมืองเอาไว้ ซึ่งอำนาจเผด็จการ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นานท่ามกลางกระแสต่อต้านอย่างหนักหน่วงของมหาชน

นายชุมสาย กล่าวอีกว่า นอกจากกระบวนการสรรหาส.ว. ที่ดำเนินการอย่างปกปิดและผิดทำนองคลองธรรม ทั้งๆที่ส.ว.เป็นผู้แทนปวงชาวไทย เข้ามาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ไม่ใช่ทำแบบเด็กเล่น ซึ่งคณะกรรมการสรรหาส.ว.ที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธาน และมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคสช. จะต้องรับผิดชอบโดยอาจจะต้องเผชิญทั้งทางกฏหมายและทางการเมือง ความเสียหายที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ กระบวนการสรรหาส.ว. ที่อาจจะเกี่ยวพันคดีทุจริต ประวัติด่างพร้อย มีมลทิน หลายคน เข้ามาเป็นส.ว. ซึ่ง เรื่องนี้ จะได้ถูกตรวจสอบ และเปิดเผยให้สังคมได้รับทราบต่อไป และหากนายชวน ไม่บรรจุ ญัตติ การสรรหา ส.ว.ไม่ชอบ อาจจะเป็นการ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157

มติชนออนไลน์