‘ทวี’ เล็งยื่นศาล รธน.ตีความเรื่องคุณสมบัติ ‘บิ๊กตู่’ ลั่นถ้าสักระยะไม่สรุปพร้อมล่าชื่อเปิดสภาซักฟอก

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.)กล่าวว่า จากการประชุมรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่นมาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ผลการโหวต พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น สมาชิกรัฐสภาได้ทำหน้าที่อภิปรายในสภา ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะเนื้อหาในการอภิปรายเกี่ยวกับคุณลักษณะผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตาม มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญฯ คือ 1.ประเด็นคุณสมบัติตาม มาตรา 160 (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนด มาตรฐานทางจริยธรรม และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่ ส.ส.,ส.ว.และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ด้วย

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ตั้งแต่ ข้อ 5 ถึง ข้อ 10 อาทิ “ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯลฯ สมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่าคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกับมาตรฐานจริยธรรม ข้อ 5 มาก ในพฤติกรรมที่ พลเอกประยุทธ์ หน.คสช ที่ทำรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 50 และล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และพฤติกรรมที่ใช้อำนาจตาม ม 44 จนถึงปัจจุบัน สมาชิกเห็นว่า ไม่ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการฝ่าผืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามข้อ 5 แล้ว และยังมีข้ออื่นๆที่สมาชิกอภิปรายอีก 2.ประเด็น มาตรา 160 (4) “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” การอภิปรายได้นำกรณีที่เหตุการณ์สำคัญที่ส่อไปทางทุจริตและไปเชื่อมโยงกับมาตรฐานจริยธรรมลักษณะร้ายแรง หมวดที่ 1

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า 3.ประเด็น มาตรา 160 (6) “ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) ” คือ เป็นพนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐฯ หรือ รัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 4.ประเด็น มาตรา 114 “โดยขัดกันแห่งผลประโยชน์” รวมถึงใช้ มาตรฐานจริยธรรม ข้อ 11 “ไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” ประกอบกับข้อมูลและข้อเท็จจริง สมาชิกรัฐสภาที่อภิปรายและลงมติ ใช้เวลาถึงประมาณ 14 ชั่วโมง ไม่ควรจบแค่ผลโหวตว่าใครมีคะแนนเสียงมากกว่าเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ที่สำคัญจะต้องหาข้อยุติว่า ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 หรือไม่ ใครจะเป็นผู้ให้คำตอบที่เป็นที่ยุติ

“เรื่องนี้จึงเห็นควรที่ ส.ส. ต้องร่วมกันผลักดันนำเรื่องคุณสมบัติที่มีประเด็นว่าต้องห้าม ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ได้วินิจฉัยให้เกิดความกระจ่างชัดต่อไป เพื่อยกระดับหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ถ้ายังเห็นว่า องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยได้ถูกเลือกมาโดย หัวหน้า คสช. ที่ถูกโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่รับเรื่องหรือไม่ดำเนินการ หรือปัญหาอื่นๆในการวินิจฉัย ควรหาข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมเมื่อพิจารณาระยะเวลาเห็นว่าเหมาะสม ส.ส.จำนวน 1 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด หรือ 100 คน เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ (ตาม รธน.ม.151) ที่ประชุมเฉพาะ สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน และมติเสียงข้างมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่อยู่ในสภาผู้แทนราษฏรดังนั้น ส.ส.จึงต้องรักษากฎหมายและความยุติธรรม จะต้องผลักดันให้ การตรวจสอบ คุณสมบัตินายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นจริง เพราะ ประชาชนชาวไทยทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

มติชนออนไลน์