30 ปี เหตุนองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน จีนเดินหน้าอำพรางประวัติศาสตร์บาดแผลต่อ

วันที่ 4 มิถุนยายน 2562 นับเป็นอีกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองจีนที่นองเลือดที่สุดในยุคปลาย 1980 อย่างเหตุสลายผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งหลักฐานยังคงไม่ได้รับความกระจ่างไม่ว่าจะเป็นวิธีการสลายผู้ชุมนุม จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงและเรื่องราวการเรียกร้องประชาธิปไตยที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะเรียกว่าเป็น “เหตุจลาจลของผู้ต่อต้านการปฏิวัติ” แม้ผ่านมาถึง 3 ทศวรรษ แต่ความพยายามปกปิดความจริงก็ยังคงเกิดขึ้น ท่ามกลางเรื่องราวและข้อเท็จจริงได้ส่งเผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นวงกว้าง

นางไช่ อิ้ง หวิน ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวก่อนที่จะมีการจัดงานรำลึกว่า จีนยังคงเดินหน้าปกปิดอำพรางความจริงของประวัติศาสตร์เลือดนี้

“รัฐบาลจีนไม่เพียงจะไม่แสดงแม้แต่ความเสียใจต่อความผิดพลาดในอดีต แต่กลับมุ่งมั่นปกปิดความจริงต่อไป จึงขอได้โปรดมั่นใจได้ – ไต้หวันจะปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างแน่นอน โดยไม่คำนึงถึงภัยคุกคามและการแทรกซึม ตราบใดที่ฉันเป็นประธานาธิบดี ไต้หวันจะไม่ก้มหัวต่อแรงกดดันแน่” ประธานาธิบดีไต้หวัน กล่าว

อีกทั้งรัฐบาลไต้หวันยังเรียกร้องให้รัฐบาลจีนแสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อเหตุนองเลือดเทียนอันเหมิน

ด้านบรรยากาศในจัตุรัสเทียนอันเหมินวันนี้ นักท่องเที่ยวต่างเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กล่าวกับสื่อว่าไม่ได้ตระหนักถึงหรือพูดคุยต่อเหตุนองเลือดดังกล่าว หรือบางคนบอกว่าลืมไปแล้วและไม่พูดถึงอีก

ขณะที่หนังสือพิมพ์ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์วันนี้ได้รายงานเรื่องราวของ อาร์เธอร์ เคนต์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวแคนาดา ซึ่งอยู่ร่วมเหตุการณ์วันนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อ 30 ปีก่อน ช่วงตั้งแต่คืนวันที่ 3 มิ.ย. ถึงเช้ามืดวันที่ 4 มิ..2532 นายเคนต์ถ่ายรูปมากมาย และที่ติดตาคาใจอยู่คือภาพหนุ่มสาวนั่งอยู่ที่บันไดอนุสาวรีย์วีรชน เพราะอยากรู้ชะตาของทั้งสอง กระทั่งตามพบคนในภาพแล้ว ในวาระครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี

จากการสืบค้นพบว่า ภาพคู่หนุ่มสาวนั้นคือ นายเคนเนธ ลัม อิว เกิง ประธานสหภาพนักศึกษาฮ่องกง ซึ่งนำเต๊นท์และกองทุนมาช่วยการชุมนุมในปักกิ่ง นั่งอยู่กับ น.ส.เฉิง เจิ้น แกนนำนักศึกษาปักกิ่ง โดยปัจจุบัน ลัม ที่ตอนนี้มีอายุ 51 ปี  กล่าวว่า ตนเองขาดการติดต่อกับเฉิง ซึ่งตอนนี้อาศัยในสหรัฐอเมริกา ตัวเขาเองก็แต่งงานแล้วและมีลูกสาวอายุ 20 ปี พร้อมทั้งปฏิเสธว่าเป็นแฟนกับเฉิง แต่เพราะสถานการณ์คับขันเมื่อ30 ปีก่อน ทำให้พวกเขาต้องอยู่ใกล้ชิดกันให้มากขึ้น เพราะเป็นนักศึกษากลุ่มท้ายๆ ที่ยังปักหลักอยู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน 

ส่วน Hong Kong Free Press รายงานเมื่อ 21 ธันวาคม ปี 2017 มีการเปิดเผยข้อมูลจากเอกสารสำคัญทั้งจากอังกฤษซึ่งถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุระบุว่า ในวันสลายผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2532 ระบุว่า มีข้อมูลจากหลายแหล่ง แต่มีเพียงข้อมูลจากสภากาชาดจีนที่ระบุว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 2,700 ราย ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2532 นายเฉิน ซีตง ผู้ว่าการนครปักกิ่งระบุว่า มีเสียชีวิต 200 ราย โดยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย 36 ราย มีเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารบาดเจ็บ 3,000 คน

ต่อมาในปี 2557 นิตยสาร Next รายงานเอกสารของทำเนียบขาวที่ยกเลิกการปกปิดไป ระบุว่า มีประมาณ 10,454 รายถูกสังหารและบาดเจ็บ 40,000 คน โดยเอกสารดังกล่าวอ้างอิงจากข้อมูลภายในของที่ทำการรัฐบาลจีนในจงหน่านไห่ ซึ่งถูกส่งต่อให้ชาวอเมริกันผ่านกองกำลังทหารจีน

ที่มา

  • Reuters
  • South China Morning Post
  • Hong Kong Free Press