ความท้าทาย “เรวะ” ทวงคืนอันดับ “ศก.มั่งคั่ง”

ศักราชใหม่ของญี่ปุ่น “เรวะ” เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2019 การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ในระดับสถาบันสูงสุดเท่านั้น แต่มีนัยสำคัญ ท้าทายรัชสมัยใหม่ ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า ทั้งการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของญี่ปุ่น

เจแปนไทมส์รายงานว่า ตลอดช่วง 3 ทศวรรษของรัชสมัย “เฮเซ” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นอีกช่วงการพัฒนาประเทศที่ทั้งยากและท้าทาย เพราะญี่ปุ่นโดนแรงกระแทกจาก “ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก” ในปี 1986-1991 แต่ด้วยบุญเก่าที่สั่งสมมาจาก “รัชสมัยโชวะ” จึงทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในยุคเฮเซรอดพ้นวิกฤต และยืนอยู่ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ต้นของโลกได้

รัชสมัย “โชวะ” ก่อนหน้า “เฮเซ” ที่ปกครองประเทศนานที่สุด 64 ปี เรียกว่าเป็น “ยุคแห่งความเฟื่องฟูที่สุด” เพราะแม้จะเป็นยุคสงคราม แต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตรวดเร็ว จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถ่ายทอดมาจากยุคโชวะ ทำให้ช่วงแรก ๆ ใน “รัชสมัยเฮเซ” เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมั่งคั่ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวอยู่ในระดับท็อปของโลก หากวัดจากดัชนีด้านกำลังซื้อของประชาชน

ขณะที่ มีบริษัทญี่ปุ่นมากถึง 7 ราย ที่ติดอยู่ใน “ท็อป 10” ของโลกในแง่ของมูลค่าธุรกิจ ทว่าในปี 2018 ท็อป 10 ของธุรกิจทั่วโลก เป็นบริษัทอเมริกันถึง 8 แห่ง อีก 2 รายเป็นบริษัทจีน ส่วนบริษัทญี่ปุ่นมีเพียง 1-2 รายที่อยู่ในท็อป 50 ของโลก

ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นในภาพรวมที่กำลังแย่ ในปี 2018 GDP ต่อหัวของญี่ปุ่นลดลงเกือบครึ่ง ร่วงมาอยู่ลำดับที่ 25 จากอันดับท็อป 5 ของโลกในรัชสมัยโชวะ และท็อป 10 ในรัชสมัยเฮเซ ต่ำกว่า “ลักเซมเบิร์กและนอร์เวย์” แม้แต่ “สิงคโปร์กับบรูไน” หากเทียบกับชาติร่วมภูมิภาคเดียวกัน

แม้ว่าในรัชสมัยเฮเซ มีความปั่นป่วนเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ “กลยุทธ์ด้านดิจิทัล” ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติขึ้นในปี 2000 และหลังจากนั้น 10 ปี โครงสร้างพื้นฐานได้ถูกพัฒนาขึ้นทั่วประเทศ สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่เปลี่ยนระบบโทรทัศน์ด้วยการออกอากาศในระบบดิจิทัลภาคพื้นดินได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์ในธุรกิจด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกครอบงำโดยธุรกิจจีน เกาหลีใต้ และเจ้าตลาดเก่าอย่างสหรัฐ และกำลังกลืนกินญี่ปุ่น เช่นเดียวกับสินค้าภายใต้แบรนด์ “เมด อิน เจแปน” ที่เริ่มหดหายไปตั้งแต่ช่วงปลายรัชสมัยเฮเซ

ดังนั้น การเริ่มต้นของรัชสมัยใหม่ “เรวะ” ที่เต็มไปด้วยความท้าทายเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจว่า ญี่ปุ่นจะกลับมาส่องแสงแห่งความรุ่งโรจน์ได้อีกครั้งหรือไม่

เพราะต้องไม่ลืมว่า วิกฤตสังคมสูงอายุในญี่ปุ่นที่ยังรุนแรง ประกอบกับอัตราการเกิดที่ต่ำมากในแต่ละปี การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจจะมีผล

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ตลอดจนแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชน รวมไปถึงรูปแบบและวิสัยทัศน์ของภาคธุรกิจญี่ปุ่นต่อจากนี้ไป

จึงควรสอดรับกับทิศทางของ “เรวะ” ที่หมายถึง ยุคสมัยแห่งความ “รุ่งเรือง-สันติ” จึงจะรอดพ้นจากมรสุมลูกใหญ่