มช.ชี้ภาพถ่ายดาวเทียม PM 2.5 บ่งคาบเกี่ยว “พืชเชิงเดี่ยว” ขยายตัว

วันที่ 11 เมษายน 2562 ข้อมูลที่ตอกย้ำให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาอย่างชัดเจนขึ้น เมื่อมีรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สรุปไว้ว่า วิกฤตหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 นั้นมีความคาบเกี่ยวกับการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่วิถีการผลิตเดิมของชุมชนที่ทำไร่หมุนเวียน รวมทั้งหาของป่าในปัจจุบันมีพื้นที่ลดลงทุกปี มีข้อมูลที่ระบุให้เห็นว่าการลดลงของการปลูกพืชหมุนเวียนไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดนั้นคือสาเหตุของปัญหา

นายวิทยา ครองทรัพย์ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน อันเนื่องมาจากการเผาหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งคาดว่าในพื้นที่ ยิ่งเมื่อข้าวโพดราคาดี จะมีการปลูกมาก และจะมีการเผามากขึ้น เหมือนเช่นในปีนี้ ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาที่สำคัญ คือ ผู้รับซื้อผลผลิต บริษัทที่เข้ามาส่งเสริมการปลูกจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุยและหาทางออกร่วมกันกับทุกพื้นที่

ขณะที่นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ในฤดูกาลผลิตปี 2561 (ขณะนี้ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว) มีพื้นที่ปลูกจำนวนราว 170,000 ไร่ ลดลงจากปีก่อนหน้า 5% ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอยู่ใน 5 อำเภอ คือ อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย โดยอำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดจำนวน 98,000 ไร่ อำเภอเชียงดาว 34,000 ไร่ อำเภอพร้าว 24,000 ไร่ และอำเภอฝาง-แม่อาย ตามลำดับ

จากการได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอำเภอแม่แจ่มพบว่า ภายหลังการเก็บเกี่ยวเกษตรกรไม่ได้เผาเพื่อเตรียมแปลงเหมือนในอดีต

ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งของหมอกควัน แต่นำเศษวัสดุเหลือทิ้งภายในแปลงที่เก็บเกี่ยวแล้ว รวมถึงตอซังไปแปรรูปไปใช้ประโยชน์ อาทิ แปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ปุ๋ยหมัก เป็นต้น

ด้านนายธนโชค พงษ์ชวลิต เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตากได้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการใน 8 อำเภอ ยกเว้นอำเภออุ้มผาง มีพื้นที่ปลูกราว 25,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีการปลูกในพื้นที่ป่าที่ได้รับอนุญาตตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) อีกจำนวนราว 50,000 ไร่ และคาดว่ามีการลักลอบปลูกในพื้นที่ป่าที่ไม่ได้รับอนุญาต จำนวนอีก 1 เท่าตัว โดยคาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดตากมีมากกว่า 100,000 ไร่