สรรพากรยันกฎหมายอีเพย์เมนต์ไม่ได้มุ่งเป้ารีดภาษีออนไลน์

นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ(อีเพย์เมนต์) มีผลบังคับใช้วันที่ 21 มีนาคม 2562 โดยกรมมีเวลาในการออกกฎหมายลูกใน 180 วัน เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย ยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้มุ่งเป้าหมายการเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ แต่ทำให้การเสียภาษีของกลุ่มที่ซื้อมา-ขายไป เป็นไปด้วยประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้กรมมีข้อมูลในการวิเคราะห์ภาษีแม่นยำมากขึ้น

นายปิ่นสายกล่าวว่า ในกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินทั้งของรัฐและแบงก์พาณิชย์ นำส่งข้อมูลการฝากหรือรับโอนเงินของบุคคลและนิติบุคคล ทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3 พันครั้งต่อปี หรือทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีขึ้นไปและมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาท ซึ่งจำนวนครั้งของการฝากและรับโอนเงินตามที่กฎหมายกำหนดคือทุกบัญชี ที่มีอยู่ในธนาคาร 1 ธนาคาร ไม่ใช่การนำบัญชีของทุกธนาคารมารวมกัน โดยให้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสรรพากร ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี โดยเริ่มส่งในปี 2563 เป็นข้อมูลของปี 2562 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกรมนำมาใช้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายได้ ไม่ใช่เป็นการส่งเพื่อให้กรมสรรพากรเรียกตรวจสอบภาษี

นายปิ่นสายกล่าวต่อว่า กฎหมายอีเพย์เมนต์ ไม่ได้เป็นกฎหมายที่จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นกฎหมายที่เป็นเครื่องมือให้กับกรมสรรพากร ในการบริหารความเสี่ยง แบ่งกลุ่มว่ากลุ่มไหนมีความเสี่ยง กลุ่มไหนไม่มีความเสี่ยง โดยมีฐานข้อมูลจากการรายการธุรกรรมที่สถาบันการเงินต้องส่งให้สรรพากร ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากร พยายามผลักดันการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมออนไลน์ โดยกฎหมายอีเพย์เมนต์ เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่กรมสรรพากรได้ผลักดันสำเร็จ ส่วนอีกฉบับที่สำคัญ แต่ยังนำเสนอไม่ทันรัฐบาลชุดนี้คือ การออก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิสซิเนส) จะเป็นต่างชาติ หลังจากนี้คงต้องหารือกฤษฎีกาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ กรมเองจะต้องนะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่และรัฐบาลใหม่เพื่อพิจารณาอีกครั้

 

มติชนออนไลน์