คดี”เปรมชัย”อัยการขอให้มั่นใจ มีความต่อเนื่อง ส่งไม้ต่อ’อัยการคดีศาลสูงภาค7′

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอธิบายขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์คดีล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าว่า คดีนี้ศาลตัดสินจำคุกนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 16 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ส่วนนายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 ศาลจำคุก 13 เดือนไม่รอการลงโทษเช่นกัน ขณะที่นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นแม่ครัวศาลจำคุก 4 เดือนพร้อมปรับ 10,000 บาทแต่โทษจำคุกให้รอลงการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ส่วนนายธานี ทุมมาศ จำเลย ที่ 4 เป็นนายพรานจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี 17 เดือนโดยไม่มีข้อหาใดที่ยกฟ้อง ศาลยังมีคำพิพากษาให้นายเปรมชัยจำเลยที่ 1 และนายธานีจำเลยที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายจากการกระทำผิด เป็นเงิน 2 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยเมื่อศาลมีคำพิพากษาตามขั้นตอนของกฎหมาย หากคู่ความฝ่ายใดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพนักงานอัยการหรือฝ่ายจำเลยทั้งสี่ถ้าไม่พอใจในผลคำพิพากษาของศาลก็สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 เดือน แต่หากการจัดเตรียมเอกสารในการยื่นอุทธรณ์ยังไม่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ยังสามารถยื่นขอขยายคำอุทธรณ์ได้

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า ในส่วนภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุดต่อจากนี้ในเรื่องการพิจารณาอุทธรณ์คดีนั้น ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดี อาญาในชั้นศาลสูง กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตัดสินของศาลชั้นต้นแล้วถ้อยคำสำนวนรวมทั้งคำพิพากษาทั้งหมดจะถูกส่งไปให้อธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ซึ่งจะมีทีมงานของอัยการศาลสูงภาค 7 พิจารณารายละเอียดคดีทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งว่า การที่ศาลตัดสินเช่นนี้อัยการศาลสูงภาค 7 จะมีความเห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร ถ้าเห็นด้วยกับผลคำพิพากษาดังกล่าวก็จะไม่ยื่นอุทธรณ์หากเห็นต่างก็จะต้องสรุปประเด็นที่เห็นต่างเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกฟ้องจำเลยบางคนในบางข้อหาหรืออัตราโทษที่พิพากษาไปแล้วมีความหนักเบามากน้อยแค่ไหนอย่างไร ควรจะลงโทษเพิ่มขึ้นมากกว่านี้หรือไม่ทั้งหมดจะเป็นดุลพินิจของคณะอัยการศาลสูงภาค 7 ที่กำกับดูแลโดยอธิบดีอัยการสำนักงานศาลสูงภาค 7

” เมื่อศาลตัดสินวันนี้แล้วภารกิจของคณะทำงานอัยการทองผาภูมิ ของนายสมเจตน์ อำนวยสวัสดิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานก็ดีจะเสร็จภารกิจทั้งหมดแล้วถูกส่งต่อให้กับอัยการคดีศาลสูงภาค 7 เสมือนกับทางศาลยุติธรรมถ้าศาลชั้นต้นตัดสินอย่างไรตัดสินแล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจ หากคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ฎีกาตามขั้นตอนกฎหมายก็จะต้องส่งต่อให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นลักษณะของการออกแบบของกระบวนการยุติธรรมที่ถ่วงดุลกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรม ดังนั้นตรงนี้ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการดำเนินคดีไม่ต่อเนื่องหรือขาดตอน เพราะเหตุผลที่กระบวนการยุติธรรมออกแบบมาเช่นนี้ก็ต้องการให้คณะอัยการศาลสูงก็ดี และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ดี เป็นผู้ไปกำกับการปฏิบัติหน้าที่ภารกิจของส่วนนั้นว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงทางคดีหรือไม่ และเป็นไปตามข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้หรือไม่ และจะใช้ดุลพินิจในลักษณะถ่วงดุล เพราะคณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือคณะอัยการที่อยู่ศาลสูงจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางคดีมากกว่าศาลชั้นต้น ดังนั้นอยากจะเรียนให้ความมั่นใจกับสังคมว่ากระบวนการยุติธรรมก็จะต้องดูทุกมิติทุกขั้นตอน”

เมื่อถามว่าอัตราโทษที่ศาลพิพากษาลงโทษนี้ถือว่าเป็นอัตราโทษสูงสุดตามบทกฎหมายในแต่ละข้อหาแล้วหรือไม่ นายประยุทธ์อธิบายว่าโทษที่ลงมานั้นไม่เต็มที่ในอัตราสูงสุดตามบทบัญญัติกฎหมายที่กำหนดไว้ ถือเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาลงโทษ ว่าควรจะลงโทษแค่ไหนเพียงใด แต่เมื่อกระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของคณะอัยการศาลสูงก็จะพิจารณาต่อไปว่าโทษที่ผู้พิพากษาลงโทษมานั้นเหมาะสมแล้วหรือยังรวมทั้งข้อหาที่ยกนั้นเห็นด้วยหรือไม่ซึ่งทั้งหมดจะเป็นประเด็นที่พิจารณาต่อไปว่าจะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ ส่วนคดีนี้จะพิจารณาถึงชั้นฎีกาหรือไม่ขณะนี้ไม่สามารถให้คำตอบได้ต้องรอดูการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ก่อน

มติชนออนไลน์