‘สุพจน์’ชี้ตั้ง สบลจ.ตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐและแก้ไม่ตรงจุด

นายสุพจน์ อาวาส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ระบุว่า การตั้งสำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยกจน(สบลจ.) มิได้ช่วยแก้ปัญหาการบูรณาการทำงานของหน่วยงานรัฐเพราะต่างคนต่าง หรือ ต่างหน่วยต่างก็มีหน้าที่และงานที่รับผิดชอบ และมีหน่วยงานรัฐมากมายหลายหน่วยในปัจจุบัน เช่น กรมการพัฒนาชุมชนซึ่งรับผิดชอบและดูแลโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน(กข.คจ.) ที่เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 สถาบันการเงินเฉพาะกิจ(SFI) ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฯลฯ ที่หลงลืมวัตถุประสงค์และมุ่งทำงานประกวดประขันเพื่อให้ได้รับราววี่รางวัลกันจนหลงลืมวัตถุประสงค์ หรือ แม้แต่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 ฯลฯ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่มากมายดาษดื่นแต่ย่ำอยู่ที่เดิม

นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งหน่วยงานในลักษณะเช่นนี้มาแล้วซึ่งได้แก่ กองทุนพัฒนาชนบทที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาชนบท พ.ศ.2535 และสำนักงานคณะพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ริเริ่มและบรรจุประเด็นในการแก้ปัญหาความยากจนมาอย่างต่อเนื่องนับแต่แผนพัฒนาเศรษฐและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) หรือ นับรวมแล้ว 37 ปี แต่ไม่เป็ผล

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าทำกันจริงๆก็เป็นอานิสงส์กับชาวบ้านร้านตลาดหาเช้ากินค่ำ แต่สงสัยว่าทำไมเพิ่งมาคิดจะตั้งเอาตอนนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะจะกลบกระแสความเหลื่อมล้ำที่ไทยติดอับดับโลก ก็คงจะหาทางแจกอะไรกันก่อนเลือกตั้งหวังคะแนนเสียงอีก และตอนนี้ยังไม่เห็นหน้าเห็นตาคนทำงาน แต่ถ้าจะให้เดาก็คงหนีไม่พ้นบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เบื้องหลังผูกโยงอยู่กับเครือข่ายธุรกิจ หรือไม่ก็เอนจีโอที่สร้างชื่อเสียง หรือความร่ำรวยให้ตัวเองโดยใช้คนจนเป็นเครื่องมือ หรือเครือข่ายหัวคะแนนซึ่งไม่รู้ว่าความจนเกิดจากไหน มีทุกข์แสนสาหัสอย่างไร และไม่เก่งจริงเพราะถ้าจริงแต่ละคนซึ่งทำงานมาสามสิบสี่สิบปี และทำเป็น ประเทศนี้คนจนต้องหมดไปนานแล้ว

แต่เท่าที่เห็นยิ่งทำ คนทำยิ่งรวย หน้าตาสดชื่น มีราศรีผ่องใส มีธุรกิจ มีทรัพย์สิน มีบ้านช่องใหญ่โต แต่ชาวบ้านยิ่งจนลงทุกที บ้านโดนยึด ที่ทำกินไม่มี หนี้สินเพิ่มขึ้น หน้าดำคร่ำเครียด และในความเป็นจริง เรื่องแก้จนมีแทรกอยู่ในภารกิจหลักของทุกกระทรวงอยู่แล้ว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับทุน อาชีพ ที่ทำกิน ที่อยู่ การศึกษา สุขภาพ สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งแต่ละปีก็ใช้งบประมาณมากมาย รวมถึง เวลาทำงานก็เห็นพูดถึงการบูรณาการแผนและงบ มีกรรมาธิการมาพิจารณากันหน้าดำคร่ำเครียดทั้งคนพิจารณาและคนทำ ทำมาคนละหลายสิบปี ก็ยังเห็นชาวบ้านจน

และทางที่ดีต้องไปรื้อแผนรื้อตัวชี้วัดแต่ละกระทรวงเสียใหม่ดีกว่า ตั้งขึ้นมาก็ไปเอาพวกเดิมมาเป็นกรรมการ มาเป็นคนทำงาน และคนกลุ่มก็กลุ่มที่ทำงานล้มเหลวมายี่สิบสามสิบปีแล้ว ถ้าทำ(งาน)กันเป็น ตั้งใจทำ งานสำเร็จไปนานแล้วและถ้าเอามาเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้อีก ก็พอที่จะเดาได้ว่า สบลจ.ที่จะตั้งขึ้นคงล้มเหลวและไม่เกิดมรรคเกิดผลเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หรือ มีจุดจบช่นเดียวกันกับกองทุนพัฒนาชนบทซึ่งต้องโอนไปให้ธนาคารออมสินดูแลเมื่อปี 2538 และโอนต่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ดูแลเมื่อปี 2543 ทั้งนี้เพราะ เสียงและความต้องการที่แท้จริงของคนจนถูกปรุงแต่งและฉาบด้วยวาทกรรมความจนที่ถูกจัดฉากและกำมะลอ

มติชนออนไลน์