กกต.อุ้ม รัฐแจกเงินคนจน เป็นนโยบายแห่งรัฐ ไม่ใช่ทุจริตเลือกตั้ง-ไม่มีอำนาจไปสอบ

กกต. หารือผอ.กกต.จว. วางแนวทางจัดเลือกตั้ง‪ เผย รัฐแจกเงินคนจนเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐ ไม่ใช่ทุจริตเลือกตั้ง อยู่นอกอำนาจกกต‬.ตรวจสอบ เชื่อปชช.แยกแยะได้ว่าอะไรเป็นการใช้ทรัพยากรรัฐ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการกกต. เป็นประธานการประชุมเตรียมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีผอ.กกต.จังหวัดจากทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อให้ผอ.กกต.จังหวัดมีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง โดยขณะนี้มีจำนวนมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 51 ล้านคน มีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 96,000 หน่วย ภารกิจแรกที่แต่ละจังหวัดต้องจัดเตรียมคือในจังหวัดจะมีหน่วยเลือกตั้งกี่หน่วย ที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้งจะอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยจะรองรับผู้มีสิทธิประมาณ 1,000 ราย นอกจากนี้ยังต้องเตรียมจัดทำป้ายไวนิลแนะนำตัวผู้สมัคร แผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่จะให้ผู้สมัครแต่ละคนนำป้ายขนาด A3 มาติดประกาศแนะนำตัว โดยผอ.กกต.จังหวัดต้องกำหนดสถานที่ให้ชัดเจน เช่น หน้าที่ว่าการอำเภอ หน้าศาลากลางจังหวัด รวมถึงนับจำนวนแผ่นป้ายของผู้สมัคร นอกจากนี้ยังต้องจัดพิมพ์เอกสารแนะนำตัวผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง นโยบายพรรค และพรรคเสนอชื่อบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี นำมาเย็บเล่มเพื่อส่งให้ถึงทุกครัวเรือนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นผอ.กกต.จังหวัดต้องเตรียมความพร้อม เพราะหากกกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง‪ในวันที่‬ ‪24 กุมภาพันธ์ 25‬62 ก็จะเหลือเวลาอีก 70 วัน

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงการพิจารณารูปแบบบัตรเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้ขั้นตอนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคาดว่าจะเสนอให้กกต.พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ไม่ว่ากกต.จะมีมติเลือกใช้รูปแบบใด สำนักงานก็ต้องบริหารจัดการให้ได้ อาจจะให้โรงพิมพ์ที่มีศักยภาพหลายแห่งเข้ามาพูดคุยถึงศักยภาพในการพิมพ์บัตร และการรักษาความปลอดภัยของบัตรเลือกตั้ง โดยจะให้ความสำคัญสูงสุดกับประเด็นความปลอดภัยของบัตร ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ใช้พรรคเดียวเบอร์เดียวนั้น หากต้องการให้แก้กฎหมายคงต้องใช้เวลา ในส่วนของกกต.ต้องทำให้ดีที่สุดตามกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนข้อเสนอที่ให้ใช้ม.44 แก้กฎหมาย ไม่ใช่อำนาจของกกต.จึงเป็นประเด็นที่ไกลเกินไปที่จะคิด

เมื่อถามว่า ขณะนี้ พรรคการเมืองและประชาชนกังวลต่อการทำงานของกกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ยืนยันได้ว่ากกต.ไม่มีการทุจริต ซึ่งเลือกตั้งเสร็จก็นับคะแนนที่หน่วยไม่เหมือนอดีตที่จะมีการยกหีบบัตรลงคะแนนไปนับในสถานที่นับคะแนน ดังนั้นผู้สังเกตการณ์จากทุกพรรคการเมือง และประชาชนก็สามารถตรวจสอบได้ที่หน่วยเลือกตั้ง และมีการรายงานผลจากหน่วยมายังส่วนกลางเลย จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงผลคะแนน ส่วนการสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการต่างประเทศ กกต.มีโครงการไว้อยู่แล้วตามที่ประธานกกต.ได้เคยให้สัมภาษณ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการขอมา แต่คิดว่ามีเข้ามาสังเกตการณ์อย่างแน่นอน ซึ่งปกติเวลากกต.ได้รับเชิญให้ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศอื่นๆ เราก็จะไปดูว่ามีการลงคะแนน และการหาเสียงอย่างไร จะไม่เข้าไปแทรกแทรงกิจการภายในประเทศของเขา ซึ่งนี่คือกรอบของเราในการสังเกตการณ์ที่เราไปดู

เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคการเมืองร้องขอให้กกต.ตรวจสอบนโยบายบัตรสวัสดิการคนจนของรัฐบาลที่เอื้อต่อพรรคพลังประชารัฐในการหาเสียง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมาย คิดว่าบัตรสวัสดิการคนจนเรามองว่าเป็นแนวนโยบายของรัฐ ซึ่งไม่ใช่การทุจริตการเลือกตั้งที่กกต.ต้องเข้าไปตรวจสอบ เชื่อว่าประชาชนสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือแนวนโยบายแห่งรัฐ

เมื่อถามต่อว่า เมื่อมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งออกมาแล้วพรรคพลังประชารัฐประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ กกต.จะต้องเข้าไปควบคุมการอนุมัติโครงการของรัฐหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ต้องดูข้อกฎหมายก่อน แต่ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เหมือนรัฐบาลรักษาการหลังการยุบสภา แต่เป็นรัฐบาลในภาวะไม่ปกติและเป็นรัฐบาลในวาระเริ่มแรก แต่หากนำเงินของผู้สมัครไปแจกเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง กกต.ก็จะถือว่าเป็นความผิด

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กกต.ได้เสนอร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหากโปรดเกล้าฯ‪ในวันที่ 2 ม‬กราคม 2562 ตามที่เสนอก็จะมีการเลือกตั้ง‪ในวันที่‬ ‪24 ก‬ุมภาพันธ์ 2562 และหลังพ.ร.ฎ.เลือกตั้งมีผลใช้บังคับแล้ว กกต.ก็จะกำหนดวันสมัครและวันเลือกตั้ง จากนั้นการหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครก็จะต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งในการประชุมระหว่างกกต.กับพรรคการเมือง‪ในวันที่ 19 ธันวาคม ‬นี้ นอกจากกกต.จะแจ้งว่าจะสนับสนุนอะไรได้บ้างแล้วก็จะหารือเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้สมัครพรรคการเมืองควรเป็นเท่าใด จากเดิม 1.5 ล้านบาท จะขยับเป็น 2 ล้าน หรือ2.5 ล้านบาท ร่วมถึงยังมีการหารือเรื่องการหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย

มติชนออนไลน์