พาณิชย์เตรียมเสนอความคืบหน้าหารือการเข้า CPTPP เผยอาจเห็นชัดในรัฐบาลนี้

วันที่ 3 ธันวาคม 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2561 ว่า ได้นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 30 หน่วยงานเป็นครั้งที่ 3 เพื่อพิจารณาความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของแต่ละหน่วยงานในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP รวมถึงการศึกษาผลดี ผลเสียที่ได้ดำเนินการมา ก่อนที่จะสรุปผลความคืบหน้าให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย

“ยังบอกไม่ได้ว่าไทยจะเข้าร่วมได้เมื่อไร เพราะจะต้องนำผลการศึกษา ผลการพิจารณา ข้อดี ข้อเสีย ที่มีอยู่ไปหารือกับนายสมคิดก่อน แต่บอกได้ว่าจะมีการตัดสินใจภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะนโยบายของรัฐบาลชัดเจนแล้วว่าจะเข้าร่วม โดยตอนนี้ ได้ให้แต่ละหน่วยงานดูรายละเอียดให้เข้มข้นมากขึ้น ประชุมกันบ่อยขึ้น เพราะ CPTPP จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธ.ค.2561 นี้ หลังจากที่มีสมาชิก 7 ประเทศ คือ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ได้ให้สัตยาบันแล้ว และเมื่อมีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นขั้นตอนของการเปิดรับสมาชิกใหม่ ซึ่งไทยต้องเตรียมท่าทีให้ชัด”

สำหรับการเตรียมการของไทยในช่วงที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศรวม 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมจาก 40 จังหวัด รวม 1,400 คน ซึ่งได้มีการชี้แจงและทำความเข้าใจในประเด็นที่มีหลายภาคส่วนมีความกังวล โดยเฉพาะเกษตรกร ประชาสังคมและสาธารณสุข ซึ่งทำให้มีความเข้าใจดีขึ้น ทั้งเรื่องพันธุ์พืช สินค้า GMOs รวมถึงการนำประเด็นอ่อนไหวกลับมาใช้ใหม่ หากสหรัฐฯ เข้าร่วม CPTPP เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่า ในการเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ก็จะยึดผลประโยชน์ของไทยเป็นหลัก และจะเน้นการเจรจาเปิดช่องให้มีการปรับตัว แต่หากการเข้าร่วม CPTPP อาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้น ก็จะมีมาตรการดูแล โดยมีแผนที่จะเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน CPTPP เพื่อใช้ในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้ศึกษาผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP โดยในด้านการส่งออก จะทำให้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไม่มี FTA กับไทย โดยสินค้าเกษตรที่จะได้ประโยชน์กับแคนาดา เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ที่ปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีภาษีก็จะยิ่งส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงผัก ผลไม้กระป๋อง ข้าว กุ้งแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ภาษีจะไม่มีหรือลดลง เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยางพารา พลาสติก ขณะที่เม็กซิโก มีสินค้าที่ได้ประโยชน์ เช่น สับปะรดกระป๋อง ข้าว ที่ปัจจุบันภาษีสูง และญี่ปุ่น ที่แม้จะมี FTA แต่ก็ลดภาษีเพียง 88% ของภาษีนำเข้าทั้งหมด แต่ใน CPTPP ไทยจะได้รับการลดภาษีเพิ่มเติม เช่น เนื้อไก่ ไก่ปรุงแต่ง ผักและผลไม้ เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ไทยจะได้รับผลกระทบ ที่จะต้องมีการเปิดตลาดเพิ่มขึ้น เช่น มันฝรั่ง ซุป ชา กาแฟ ซึ่งปัจจุบันไทยมีการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวอยู่แล้ว เพราะมีการเปิดเสรีในกรอบ FTA อื่นๆ และกำลังจะเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน CPTPP ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับกองทุน FTA ที่ปัจจุบันไม่ได้รับงบประมาณ โดยการขอรับการช่วยเหลือจะมีเงื่อนไขที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เพราะกองทุนมีความจำเป็น เนื่องจาก CPTPP ไม่ได้มีแค่ 11 ประเทศ แต่จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น หลังจากที่เปิดรับสมาชิกใหม่ ซึ่งไทยก็ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ

นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเชิญสมาชิก CPTPP ที่มีประสบการณ์ในแต่ละเรื่องมาให้ความรู้กับไทย และเรียนรู้ถึงวิธีการปรับตัวของแต่ละประเทศ เพราะในความตกลง CPTPP บางเรื่องก็เปิดโอกาสให้สมาชิกมีระยะเวลาในการปรับตัวเป็น 10-20 ปี ซึ่งไทยก็จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการเจรจาในอนาคต