แบงก์ชาติคาดเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จพย.นี้

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. อยู่ระหว่างการปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนผู้บริโภค สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาพิจารณาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับความเห็นที่ได้รับครอบคลุมหลายประเด็น อาทิ วันที่เริ่มบังคับใช้ ความหมายของบ้านหลังที่ 2 หรือสัญญาที่ 2 อัตราการวางเงินดาวน์ของสัญญาที่ 2 หรือสัญญาที่ 3 เป็นต้น

นางวจีทิพย์ กล่าวว่า มีคำถามและหลายประเด็นที่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนซึ่งสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันน่ากังวลแค่ไหน เหมือนปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งหรือไม่นั้น ขอย้ำว่าสถานการณ์ปัจจุบันต่างจากช่วงปี 2540 และเกณฑ์กำกับดูแลที่จะออกมาเป็นมาตรการในเชิงป้องกัน (Preventive Measures) คล้ายกับเมื่อเริ่มเห็นควัน ก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ โดยมาตรการนี้มุ่งยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินซึ่งที่ผ่านมาหย่อนลงไปบ้าง และมุ่งเน้นการสร้างวินัยให้มีการออมบางส่วนก่อนกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งป้องกันการเก็งกำไร โดยการลดดีมานด์เทียม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่เพื่ออาศัยอยู่จริง สามารถซื้อบ้านในราคาที่เหมาะสม อีกทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ว่าปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์มักเป็นต้นตอทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

“เกณฑ์กำกับดูแลที่จะออกมาจะใช้บังคับเฉพาะกรณีการผ่อนที่อยู่อาศัย 2 หลังขึ้นไปพร้อมๆ กัน และจะไม่กระทบกรณีที่ผ่อนหลังที่ 1 เสร็จแล้ว และจะกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ซึ่งกรณีนี้จะนับเป็นสัญญาที่ 1 และจะไม่กระทบการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ซื้อบ้านหลังแรก เพราะใช้บังคับเฉพาะที่อยู่อาศัยที่ราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งจะไม่มีผลย้อนหลังสำหรับผู้ที่กู้ไปแล้ว ดังนั้นจะไม่กระทบผู้ที่กู้ก่อนเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้” นางวจีทิพย์ กล่าว