‘พล.ท.พงศกร’ ชี้ จนท.รัฐติดตามอนาคตใหม่พื้นที่ต่างๆ เข้าใจทำตามหน้าที่ แต่อย่าแสดงตัวขัดขวาง ปชช.-ปชต.

เมื่อวันที่ 13 กันยายน พล.ท.พงศกร รอดชมภู ว่าที่รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีการเดินทางรับฟังปัญหาของประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศของทีมอนาคตใหม่ แล้วปรากฏว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงติดตามเก็บข้อมูล บางพื้นที่บางกิจกรรมถูกสั่งให้ยกเลิกการจัด ว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ประเทศของเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ปี่ กลอง การเมืองดังแล้ว แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง ติดตามการลงพื้นที่ของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งๆ ที่แค่ไปสอบถามปัญหาจากประชาชน ยังไม่ใช่การหาเสียง ซึ่งตรงนี้ คสช.เองก็อนุญาตแล้ว ควรให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาความยากลำบากของพวกเขาให้กับฝ่ายการเมืองได้รับรู้ ไม่ว่าเป็นพรรคไหนก็ตาม เพื่อที่จะได้นำไปกำหนดนโยบายแก้ปัญหาให้ แต่ปัญหาคือ การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นกลัว รู้สึกว่าถูกคุกคาม ไม่ได้รับความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ เจ้าหน้าที่ต้องตระหนักว่าเมื่อเรากำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ควรสร้างบรรยากาศปรองดอง เจ้าหน้าที่ต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าไปเข้าข้างใคร ทั้งนี้ เข้าใจว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็ทำหน้าที่ไป แต่อย่าไปแสดงตัวเหมือนกับขัดขวางประชาชน ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย จะทำให้ประชาชนรู้สึกรังเกียจ ซึ่งไม่ดีกับทุกฝ่าย

“การที่ไปขัดขวางกิจกรรมแบบนี้ เป็นอันตรายต่อกระบวนการประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะไปหาข้อมูล และให้ประชาชนได้สื่อสารปัญหามาถึง บางที่ก็จะไม่ได้และอาจได้เฉพาะแค่บางพรรค ได้แค่ความเห็น หรือความคิดที่เอียงอยู่ข้างเดียว แล้วสนับสนุนความคิดเดิมที่คุณคิดว่าใช่ แต่เสียงอีกฝั่งไม่ได้ฟัง กรณีนี้เมื่อเสียงบางส่วนหายไป ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็อยากแจ้งไปยังประชาชน คนที่อยากมาร่วมสะท้อนปัญหาให้ฝ่ายการเมืองหรือคนทำงานในพื้นที่ว่า ไม่ต้องกลัว เพราะบางที ทหาร ตำรวจ หลายคนก็เป็นฝ่ายประชาธิปไตย เป็นทหาร ตำรวจอาชีพ เพียงแต่เขาต้องทำหน้าที่ตามได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ดังนั้น ก็เข้าไปพูดคุย สอบถามเลยว่ามาทำอะไร ต่างคนจะได้เข้าใจในแง่ของการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน” พล.ท.พงศกรกล่าว

พล.ท.พงศกรกล่าวอีกว่า บทบาทเจ้าหน้าที่ สำหรับตำรวจเป็นข้าราชการพลเรือน มีกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน เขียนชัดว่าต้องเป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีพฤติกรรมไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย คุณต้องโดนปลด แปลว่าถ้าหนุนเผด็จการก็ขาดคุณสมบัตินี้ ขณะที่ทหารต้องไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองเลย ต้องทำตัวให้เป็นทหารอาชีพ ซึ่งตนพูดเสมอว่า ทหารอาชีพ กับทหารการเมืองต่างกัน ทหารอาชีพปฏิบัติหน้าที่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ขณะที่ทหารการเมือง จะมองแต่ว่าเมื่อไหร่จะยึดอำนาจ มองแต่ว่าเมื่อไหร่จะเล่นการเมืองในหมู่ทหาร หาอำนาจ หาประโยชน์ให้ตัวเอง ขบวนการเหล่านี้มีไม่มาก แต่ก็ทำให้องค์กรหรือสถาบันทหารเสียเกียรติภูมิ เสียความน่าเชื่อถือ ทำให้คนไม่ไว้ใจ ซึ่งสิ่งนี้ต้องไม่เกิด ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่ไว้ใจให้ทหารไปรบ ไม่ไว้ใจให้สวัสดิการดีๆที่เหนือกว่าคนอื่น ต่อไปคนจะเกลียด ที่อ้างว่าปกป้องประเทศชาติ เขาจะไม่เชื่อ และเมื่อไม่เชื่อแล้วจะโดนตัดงบประมาณได้ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันทหารการเมืองใช้ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ เป็นเครื่องมือในการพยายามชนะการเลือกตั้งคราวหรือไม่ เข้าใจได้ว่า เมื่อมีอำนาจรัฐ ก็พยายามใช้เครื่องมือต่างๆ ของรัฐให้เป็นข้อได้เปรียบ แต่ข้าราชการประจำควรทำตัวเป็นกลาง

“เมื่อเขาสั่งการมาก็แค่รายงานกลับไป อย่าไปขัดขวางหรือแทรกแซงประชาชน อย่าทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะจะเป็นการเล่นเกมที่ไม่แฟร์ แม้วันนี้คุณจะชนะ แต่ในระยะยาวคนจะไม่เชื่อ เหมือนแข่งฟุตบอลในสนาม เมื่อคนไม่เชื่อกรรมการแล้ว เขาก็จะลงสนามไปตีกัน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต่างๆต้องระลึกเสมอว่า คุณคือสถาบัน ตำรวจคือสถาบันตำรวจ ทหารคือสถาบันทหาร ต้องรักษาสถาบันตัวเองไม่ใช่รักษารัฐบาล คุณต้องรักษาความอยู่รอดของวิชาชีพตัวเอง ไม่ใช่ทำเพื่อใครหรือเพื่อผลประโยชน์อะไร คุณต้องทำเพื่อเพื่อนร่วมงานเพื่อนร่วมชีวิต ทำเพื่อศักดิ์ศรีของทหาร” พล.ท.พงศกร กล่าว