‘ธนาธร’ ชี้ “ชาวอาชีวะ คือผู้สร้างชาติ” สามารถช่วยนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมและเศรษฐกิจได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Fan page Facebook Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้โพสต์ภายหลังไปเยือนรัฐศาสตร์แฟร์ที่จุฬาฯ ว่าได้นึกถึงเกี่ยวกับ “ชาวอาชีวะ ผู้สร้างชาติ” ที่จะบทบาทสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ได้พบปะกับน้องๆนิสิต กินข้าวด้วยกันแถวสามย่าน ตื่นเต้นที่ได้เห็นพลังความคิดสร้างสรรค์และความกระตือรือร้นทางการเมืองจากคนหนุ่มสาว และยังทำให้ผมคิดถึงคนหนุ่มสาวอีกกลุ่ม ที่อยู่ห่างออกไปเพียงแค่รั้วกั้น พวกเขาคือชาวอาชีวะ แม้ปัจจุบันทั้งช่างกลอุเทนถวายและช่างกลปทุมวัน จะยกระดับเป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว แต่ชื่อของสองสถาบันนี้ยังคงผูกพันกับภาพลักษณ์และบทบาทของอาชีวะในสังคมไทย ภาพที่คนจดจำเพียงการยกพวกตีกัน ทั้งที่ชาวอาชีวะมีบทบาทสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและเศรษฐกิจไทยมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในด้านประชาธิปไตย คนทั่วไปอาจไม่รู้ หรือไม่สนใจจะจำว่าเด็กอาชีวะเป็นแนวหน้าในการชุมนุมต่อต้านเผด็จการยุค 14 ตุลาฯ พวกเขาสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับแกนนำนักศึกษาชื่อดังที่สังคมจดจำ พวกเขาอุทิศตัวเป็นกำแพงมนุษย์ กั้นกลางระหว่างปืน รถถัง กับผู้ชุมนุมที่มีเพียงสองมือเปล่า

ส่วนในด้านเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่มีส่วนในการประสานระหว่างแนวคิดเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการปฏิบัติหน้างานจริง ส่วนใหญ่คือช่างเทคนิคที่จบการศึกษาระดับอาชีวะ ผมได้เห็นและเชื่อมั่นในศักยภาพของคนเหล่านั้น เมื่อหลายปีก่อนที่ผมผลักดันโครงการให้ช่างเทคนิคที่มีประสบการณ์หน้างานมาก สามารถใช้โปรแกรมควบคุมการทำงานของเครื่องจักรจากคอมพิวเตอร์ (Computer-Aided-Machining) ได้ เมื่อเราเปิดโอกาสและลงทุนกับการยกระดับบุคลากร ช่างเทคนิคอาวุโสเหล่านี้ ซึ่งบางคนไม่เคยจับเม้าส์มาก่อนกลับทำหน้าที่แทนวิศวกรได้อย่างสมบูรณ์ และทำให้เราสามารถย้ายวิศวกรที่ทำงาน CAM ไปทำงานหน่วยงานอื่นได้

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อผมเริ่มนำระบบ automation มาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เรายังต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาเขียนโปรแกรมการสั่งการหุ่นยนต์ ช่างเทคนิค/วิศวกรไทยที่สามาถทำได้ทั้งระบบในขณะนั้นยังหาได้ยาก ในปัจจุบันงานประเภทนี้สามารถทำได้โดยช่างเทคนิคระดับปวช./ปวส.

ในยุคที่เศรษฐกิจไทยต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ชาวอาชีวะเป็นทัพหน้าในการสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมของประเทศให้ทันกับเพื่อนบ้านและเวทีโลก ศักยภาพที่มีอยู่นี้ไม่ควรถูกบดบังด้วยทัศนคติเดิมๆที่ว่าอาชีวะเอาแต่ยกพวกตีกัน หรือมีศักดิ์ศรีด้อยกว่าคนจบปริญญาตรี สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เพียงร้อยละ 5-7 ของงบกระทรวงศึกษาฯอย่างที่เป็นอยู่ การพัฒนาหลักสูตรให้ทันกับความต้องการของภาคธุรกิจต้องได้รับการสนับสนุน

อนาคตอาชีวะ คืออนาคตของเศรษฐกิจไทย คืออนาคตที่เราต้องกำหนดร่วมกัน