ธปท.ดันภาคธุรกิจใช้ ”พร้อมเพย์” ถกเพิ่มเพดานโอนเงินไม่คิดค่าธรรมเนียม

ธปท.เดินสายสำรวจความเห็นภาคธุรกิจหารือขยายเพดานโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ฟรีค่าธรรมเนียม จากปัจจุบันไม่เกิน 7 แสนบาท/ครั้ง หวังลดต้นทุนบริหารเงินสด คาดชัดเจนปลายปีนี้ นายแบงก์โดดรับลูก

นางสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.กำลังเดินสายสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับการขยายเพดานการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ต่าง ๆ ได้เปิดให้บริการแล้ว แต่มีการจำกัดเพดานวงเงินการโอนเงินสำหรับกรณีไม่เสียค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) โดยแต่ละแบงก์กำหนดวงเงินเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเพดานไม่เกิน 7 แสนบาท/ครั้ง แต่ก็มีบางธนาคารให้สูงถึงหลัก 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การขยายเพดานการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้านต้นทุนของฝั่งแบงก์ด้วย ขณะเดียวกันถือเป็นนโยบายของ ธปท.ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจ ช่วยตอบโจทย์การค้าขายในและต่างประเทศ

“เราสำรวจว่าถ้าจะให้เขาใช้บริการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ จะต้องขยับเพดานขึ้นมาอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาได้เดินสายคุยกับภาคธุรกิจใหญ่ ๆ มาหลายแห่งแล้ว ว่าคนใช้ต้องการอะไรบ้าง จะได้พัฒนาได้ถูกและเป็นประโยชน์ หลังจากนั้นจะทำการสรุปผลดังกล่าว แต่ว่าต้องใช้เวลา เพราะนิติบุคคล (ธุรกิจ) ก็ต้องปรับตัวด้านกระบวนการหลังบ้านด้วย ซึ่งมีหลายเรื่อง เช่น การลงบัญชี ด้านโอเปอเรชั่น เป็นต้น ขณะที่ปัจจุบันจะเห็นหน่วยงานราชการหันมาใช้กันเยอะขึ้นแล้ว เราคาดว่าปลายปีนี้จะเห็นผลิตภัณฑ์สำหรับภาคธุรกิจ ช่วยลดต้นทุนด้วย” นางสิริธิดากล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ตามที่ ธปท.ได้ให้โจทย์แต่ละธนาคารเรื่องการขยายเพดานวงเงินโอนผ่านพร้อมเพย์โดยไม่คิดค่าฟี เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าใช้บริการพร้อมเพย์มากขึ้นนั้น ได้มีการหารือกันแล้วว่าให้แต่ละธนาคารกำหนดการขยายเพดานกันเอง เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจมาใช้บริการการโอนเงินดังกล่าว เนื่องจากเดิมลูกค้านิยมใช้เช็คกันส่วนใหญ่ ดังนั้นหากมาใช้โอนเงินผ่านพร้อมเพย์ จะช่วยให้ลูกค้าใช้เช็คน้อยลง ถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งลูกค้าและธนาคารด้วย ส่วนผลกระทบด้านรายได้ค่าฟีส่วนนี้ไม่ค่อยมาก เพราะไม่ค่อยได้รายได้ส่วนนี้อยู่แล้ว

“กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ปัจจุบันคิดว่าไม่ได้ใช้พร้อมเพย์มากนัก เพราะจะมีระบบโอนเงินแบบหนึ่ง ซึ่งมีกลไกที่จะบริหารความเสี่ยงที่ดีกว่า ส่วนการขยายเพดานวงเงินโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ จะช่วย SMEs ลดต้นทุนได้ ซึ่งผมเห็นด้วย ถ้าเป็นประโยชน์ก็ต้องทำ แต่ก็มีความเสี่ยง ถ้าเกิดการทุจริตมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายได้มากขึ้น แต่เชื่อว่าจะจัดการได้” นายปรีดีกล่าว