‘อุตตม’ ลงพื้นที่เชียงใหม่ชมศักยภาพหมู่บ้านซีไอวีตั้งเป้า450แห่งในปี’62

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการนำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมชมการพัฒนาโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ซีไอวี) หรือ “หมู่บ้านซีไอวี” ภายใต้การดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ว่า แนวทางของนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาหมู่บ้านซีไอวีมีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยการเข้ามาพัฒนาและต่อยอดผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้วยการพัฒนานำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ เพื่อการสร้างตลาดใหม่ๆ จนทำให้หลายชุมชนประสบความสำเร็จในด้านการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นเข้าสู่ชุมชน จากปัจจุบันที่ดำเนินการไปแล้ว161 ชุมชน และได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 450 ชุมชน ภายในปี 2562 ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ได้กำหนดแผนที่เป็นรูปธรรมในการเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านซีไอวีในระยะต่อไป จะผ่านกลไกการดำเนินงานของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือไอทีซี โดยจะเข้าไปวางแผนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทั้งทางด้านอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่สามารถยกระดับและต่อยอดทางการตลาดได้ โดยจะเป็นการพัฒนาเชิงรุก ที่มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยด้านการออกแบบดีไซน์ เพื่อตอบสนองตลาดโดยรวมและตลาดเฉพาะเจาะจงตามคำสั่งซื้อมากขึ้น และ การทำตลาดออนไลน์ ตั้งแต่การจัดทำเฟซบุ๊ก แฟนเพจ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน

นายอุตตมกล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีชุมชนที่มีศักยภาพที่มีการพัฒนาจนมาประสบความสำเร็จและกำลังจะพัฒนาไปสู่ชุมชนอื่นๆ โดยมีชุมชนออนใต้ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่พร้อมจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในหมู่บ้านซีไอวีสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในทุกขนาดในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคเหนือ ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองหลักและการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นแต่ละจังหวัด

สำหรับความสำเร็จของการพัฒนา “ชุมชนออนใต้” ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีการค้นพบหลักศิลาจารึกสมัยลานนา เป็นชุมชนที่มีทุนทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยังคงรักษาไว้ได้ในปัจจุบัน นับว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งตัวอย่างที่มีการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ผนวกกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาสร้างเป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรม พร้อมกับการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น มาพัฒนาและต่อยอด ด้วยแนวทางสร้างสรรค์ จากการออกแบบ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยจนประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ชุมชนดังกล่าวยังสามารถสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง ภายใต้สโลแกน “พันนาพูเลา ร้อยเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้” โดยมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปปลา 3 ตัวว่ายวนรอบใบไม้และปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จากการเข้ามาใช้บริการที่พักโฮมสเตย์อย่างต่อเนื่อง
โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าย้อมสีธรรมชาติที่มีนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ และกระเป๋าขนาดต่างๆ รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาที่นำเทคนิคการผลิตในสมัยโบราณมาผลิต แปลงเป็นภาชนะในรูปแบบต่างๆ ที่ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และเป็นเครื่องประดับ แต่ยังคงเอกลักษณ์เป็นศิลปะโบราณ

ด้านการพัฒนาขยายเครือข่ายหมู่บ้านซีไอวีของ “ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ” อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมและวิถีชุมชน รวมถึงมีวิสาหกิจที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ทอผ้า ทำกระดาษสา และตุ๊กตาไม้ ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตและจำหน่ายในรูปแบบของที่ระลึกประจำถิ่น ที่ยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไตลื้อ ที่มีความพร้อมในการยกระดับเข้ามาเป็นหมู่บ้านซีไอวี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และสามารถพัฒนาอุปกรณ์ให้เกิดการเคลื่อนย้ายไปผลิตในสถานที่ต่างๆ ได้ จะเห็นได้จากกี่ทอผ้า ซึ่งปัจจุบันกี่ทอผ้าเกิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสาธิตในพื้นที่อื่นๆ ได้ และคาดว่าชุมชนดังกล่าวจะสามารถเข้าสู่การเป็นหมู่บ้านซีไอวีภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีแผนที่เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการกระจายธุรกิจท่องเที่ยวในชุมชนต่างๆ ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของรัฐบาลที่มีเป้าหมายจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพะเยา และจังหวัดน่าน เป็นต้น โดยการเข้าไปพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนที่อยู่เมืองรองมาสร้างจุดขาย อาศัยทุนทางวัฒนธรรม ผนวกกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในท้องถิ่นให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

นางอารีย์ ใจวงค์ ประธานชุมชน กลุ่มทอผ้าบ้านปง ตำบลออนใต้ กล่าวว่า ถือเป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันของหมู่บ้านในตำบลออนใต้ ทั้งหมด11 หมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเองและนับตั้งแต่เข้าเป็นหมู่บ้านซีไอวีทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบดั้งเดิมมาสู่สินค้าที่มีความหลากหลายและมีสีสันมากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฝึกอบรมด้านการพัฒนาออกแบบโดยเฉพาะ พร้อมกับนำตราสัญลักษณ์ที่เป็นรูปปลาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงถิ่นฐานชุมชนออนไต้มาใช้เป็นแบรนด์หลักของชุมชนออนใต้ ทำให้ปัจจุบันสินค้าของชุมชนสามารถตอบสนองตรงตามความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ รวมถึงการทำตลาดออนไลน์เข้ามาพัฒนาธุรกิจทำให้ปัจจุบันมียอดการสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องจนเราทำไม่ทัน และทำให้ราคาสินค้าเราได้ราคาดีขึ้น จากเดิมตัวอย่างขายผ้าทอเฉลี่ยอยู่ที่ราคาเพียง 80 บาท เพิ่มเป็นผืนละ 200 บาท