ไทยสร้างโรงผลิตวัคซีน ‘พิษสุนัขบ้า’ ได้ ล้อมคอกคุณภาพต่ำให้กรมวิทย์แพทย์ตรวจก่อนรับทุกครั้ง

อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยเป็นไปได้ไทยสร้างโรงผลิตวัคซีนป้องกัน “พิษสุนัขบ้า” ให้กรมวิทย์แพทย์ตรวจคุณภาพก่อนตรวจรับวัคซีน
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ห้องประชุม 1 ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนจากสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มพัฒนาวิชาการปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ให้ทุกจังหวัดรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าสม่ำเสมอ และให้ส่งหัวสัตว์สงสัยทุกหัวตรวจวิเคราะห์

2. การตรวจรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกครั้งของกรมปศุสัตว์ ให้มีการส่งตรวจคุณภาพของวัคซีนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อนให้ได้มาตรฐาน ก่อนกรมตรวจรับทุกครั้ง

3. หาแนวทางการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของทั้งคนและสัตว์ ให้ได้คุณภาพมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้ ทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าวัคซีนของสัตว์ 15 ล้านโด๊สต่อปี และคน 2.5 ล้านโด๊สต่อปี

4. ที่มาและความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย
4.1 โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Vero cell) สำหรับทั้งคนและสัตว์ Development of Inactivated Rabies vaccine in cell culture for Human and Animals, Thailand

5. ที่มาและความคืบหน้าในการวิจัยการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ โดยโครงการพัฒนา Rabies vaccine ที่ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ทุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้แก่
5.1 การพัฒนา Rabies vaccine ในสัตว์ คือโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับสัตว์ใน GMP pilot plant ปี 2564-2565 (ระยะเวลา 1.5-2 ปี)
5.2 การทดสอบ Rabies vaccine ในสัตว์ คือโครงการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับสัตว์ภาคสนาม ปี 2566 (ระยะเวลา 1 ปี)
5.3 การขึ้นทะเบียน Rabies vaccine กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 (ระยะเวลา 6 เดือน) และมีแผนการผลิต Rabies vaccine ในระดับอุตสาหกรรม

6. ความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในไทย โดยมีการทำงานแบบคู่กันไปทั้งด้านงานวิจัยเพื่อนำข้อมูลมาสนับสนุน การทำ Pilot project ร่วมกัน การซื้อ bulk vaccine มาบรรจุในเบื้องต้น มีการพัฒนาด้านศูนย์ทดสอบ QC วัคซีนสัตว์ก่อนการนำมาใช้ มีการพัฒนาการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในสัตว์ มีการบริหารจัดการส่วนกลาง Central procurement ในระบบการจัดซื้อเพื่อกระจายไปพื้นที่ และการจัด Body ในการประสานงาน และทีม Working group เพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทางสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีโรงงานผลิตวัคซีนของคนและสัตว์ได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน การบริหารจัดการมีความมั่นคงในการผลิตวัคซีน และผลิตได้ปริมาณเพียงพอทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าสอดคล้องตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า และสามารถควบคุม และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป