ปลัด อปท.เมินทำหน้าที่ ผอ.เลือกตั้งท้องถิ่น หวั่นไม่เป็นกลาง สร้างความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นภายใน 30 วัน สมาคมฯยืนยันว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ควรมอบหมายหน้าที่ให้ปลัดองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และพนักงานส่วนท้องถิ่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารที่ข้าราชการผู้นั้นสังกัด สำหรับปลัด อปท.ไม่ควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อปท.ที่สังกัด เนื่องจากจะถูกมองว่าไม่มีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ และจะมีปัญหาความขัดแย้งกับนักการเมืองท้องถิ่น หลังสิ้นสุดการเลือกตั้งเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

“หากมีความจำเป็นที่ กกต.ไม่สามารถสรรหาบุคคลอื่นที่เหมาะสม จำเป็นจะต้องแต่งตั้งปลัด อปท.เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ก็อาจสลับให้ปลัด อปท.ไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งใน อปท.แห่งอื่น สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปทราบว่า กกต.จะมอบหมายให้ อปท.แต่ละแห่งดำเนินการจัดการเลือกตั้งเอง ขณะที่หลายฝ่ายเกรงว่าองค์กรท้องถิ่นอาจมีปัญหา เพราะผู้บริหารหรือสมาชิกที่ทำหน้าที่รักษาการตามคำสั่ง คสช.จะถือว่าได้เปรียบคู่แข่งหรือไม่ หรืออาจเข้าไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของปลัด อปท.ที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้ง” นายศักดิพงศ์กล่าว

นายศักดิพงศ์กล่าวต่อว่า กฎหมายใหม่กำหนดให้เลือกตั้งภายใน 45 วัน หลังจากมีผลบังคับใช้ ดังนั้น ผู้มีอำนาจควรพิจารณาการทำหน้าที่รักษาการของผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นว่าควรจะอยู่ในหน้าที่ได้ถึงช่วงเวลาใด ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจหน้าที่และงบประมาณของรัฐจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง

ด้าน นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เจตนาของ กกต.ที่มอบหมายให้ปลัดท้องถิ่นทำหน้าที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ในฐานะผู้บังคับบัญชาข้าราชการและพนักงานภายในท้องถิ่น และต้องทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากการเลือกตั้งจะใช้บุคลากร งบประมาณ และอุปกรณ์ หากมีการย้ายสลับกัน จะทำให้มีปัญหาในการสั่งงาน ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งฉบับใหม่เปิดช่องให้มีการร้องเรียนพฤติกรรมการทำหน้าที่ของปลัด อปท. หากพบพยานหลักฐานมีความบกพร่องในขณะปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งจะถูกสั่งย้ายไปประจำอำเภอหรือจังหวัด ปัญหานี้จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่งทางการเมืองใช้โอกาสกลั่นแกล้ง เนื่องจากต้องยอมรับว่าปลัด อปท.กับผู้บริหารท้องถิ่นส่วนใหญ่ต้องทำงานร่วมกัน บาง อปท.เป็นญาติใกล้ชิด เป็นเพื่อนสนิท เป็นคู่เขย จะทำให้มีโอกาสถูกร้องเรียนสูงมาก สำหรับ อปท.บางแห่งหากปลัดขัดแย้งกับผู้บริหารที่ทำหน้าที่ปัจจุบัน ก็จะมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน