ข่าวเด่น : สตง.ชี้ทริป”บิ๊กป้อม”ไม่เกินเหมาะสม เหมาลำ20ล.ไม่ผิดปกติ มีเสิร์ฟ”ไข่ปลาคาเวียร์”

ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในการเดินทางไปประชุมที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐ ของ พล.อ.ประวิตร และคณะ ว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่ามีการทุจริตการใช้เงิน และไม่ได้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน เพราะเป็นการเดินทางตามคำเชิญของสหรัฐ

“เท่าที่ดูค่าใช้จ่ายในการเดินทางประเมินไว้กว่า 20 ล้านบาท ในชั้นนี้คงไม่มีอะไรเกินเหมาะสม เพราะถ้าไม่เช่าเหมาลำ การเดินทางระดับวีไอพีต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5-6 แสนบาทต่อคน เมื่อคิดจำนวนคนเดินทาง 38 คน เป็นค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกับเช่าเหมาลำ หากไม่เช่าเหมาลำต้องเสียเวลาเดินทางประมาณ 16-33 ชั่วโมง เนื่องจากต้องต่อเครื่องบินหลายรอบ เพราะไม่มีบินตรง แล้วถ้าบินโดยไม่ใช้สายการบินแห่งชาติคงไม่เหมาะสม เพราะการเดินทางครั้งนี้ถือเป็นตัวแทนประเทศ ถ้าลงจากเครื่องบินแล้วไม่ใช่ของสายการบินของไทย ในทางการทูตคงดูไม่ดี” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สตง.เข้าไปดูรายชื่อผู้เดินทางไป 38 รายแล้ว พบว่าไม่ตรงกับรายชื่อที่หลุดออกมาตามสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ แต่ สตง.คงไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อที่มีในมือให้ทราบได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของความมั่นคง ไม่สมควรนำไปเผยแพร่ ยืนยันว่าไม่มีชื่อ พ.ต.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และไม่มีรายชื่อเอกชนจากเครือซีพี ส่วนที่ว่ามีรายชื่อแล้วไม่เดินทางหรือไม่นั้น คงไม่ใช่หน้าที่ สตง.ที่จะไปตรวจสอบ เพราะ สตง.จะดูเฉพาะรายชื่อที่เดินทางว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมหรือไม่ เท่าที่ดูทั้ง 38 คนที่เดินทางไปเป็นบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เป็นคนที่มียศ ตำแหน่งทางทหารหรือตำรวจ มีเพียง 4 คนที่ไม่มียศ คือนักข่าวช่อง 5 ช่างภาพช่อง 5 และเจ้าหน้าที่สำนักนายกฯ

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่การบินไทยคิดจากเช่าเหมาลำ 20 ล้านบาท ครั้งนี้เมื่อเทียบกับการเดินทางที่ผ่านมาของผู้นำรัฐบาล ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ การบินไทยคิดค่าใช้จ่ายในอัตราราชการ

“ส่วนค่าอาหาร 6 แสนบาทนั้นเป็นการประเมินไว้เบื้องต้น เท่าที่ดูพบว่ามีการเสิร์ฟไข่ปลาคาเวียร์ สำหรับผู้โดยสาร 9 คน ที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสจริง ซึ่งแล้วแต่ผู้โดยสารจะปฏิเสธว่าจะรับประทานหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเสิร์ฟไข่ปลาคาเวียร์นั้น เป็นมาตรฐานการบริการของสายการบินอยู่แล้ว แม้จะไม่รับประทานก็คิดค่าใช้จ่ายอยู่ดี เหมือนกรณีไปนั่งรถ บขส.แล้วเสิร์ฟน้ำ ถ้าผู้โดยสารไม่อยากได้น้ำแล้วปฏิเสธไป คงไม่สามารถลดค่าตั๋วได้” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ สตง.จะเสนอข้อมูลทั้งหมดไปยังคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คาดว่าจะบรรจุวาระจรเข้าที่ประชุม คตง.ในวันที่ 11 ตุลาคม เพื่อให้ คตง.วินิจฉัยว่าใช้งบประมาณตรงนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะผู้ว่าการ สตง.คงไม่ไปฟันธง เนื่องจากที่ผ่านมาถูกวิจารณ์ว่าพิจารณาเร็วไป การเสนอข้อมูลดังกล่าวไม่รวมกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่การบินไทยจะเรียกเก็บ เพราะขณะนี้การบินไทยยังไม่วางบิล เนื่องจากต้องรอค่าใช้จ่ายจากต่างประเทศ อาทิ ค่าธรรมเนียมบินผ่านประเทศต่างๆ ค่าอาหารจากฮาวาย อย่างไรก็ตาม การบินไทยระบุว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะไม่เกิน 20.9 ล้านบาท หลังจากนี้หากมีข้อมูลใหม่ๆ สตง.อาจนำมาพิจารณาเพิ่มเติมได้