“ละมุด” ซาหวาแดนใต้ ปลูกมาตั้งแต่สมัย ร.4 วิตามินซี-เส้นใยสูง | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สนองนโยบายรัฐที่จับโควิค จาก “โรคติดต่ออันตราย” มาเป็น “โรคติดต่อเฝ้าระวัง” จึงออกตัวท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ได้มีโอกาสไปชื่นชมวัดบ่อทรัพย์ ที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา

ภูมิทัศน์ในวัดร่มรื่นมาก ที่ชวนแปลกใจมากพบต้นละมุดขนาดใหญ่มาก พอๆ กับต้นขนุนที่โตเต็มที่

เมื่อสอบถามคนในพื้นที่พบว่า ละมุดเหล่านี้น่าจะปลูกมาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2482-2488 จึงเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับวัดมาอย่างยาวนาน และทั่วทั้งพื้นที่ของวัดไม่มีจุดไหนที่ไม่มีต้นละมุด

จนเป็นคำขวัญของวัดบ่อทรัพย์ว่า “ซาหวารสดี บารมีสามหลวงพ่อ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ท่านเจ้าเขา”

คำว่า “ซาหวา” คือชื่อพื้นเมืองของละมุด

จากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว พบว่าละมุดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manilkara zapota (L.) P.Royen มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกาตอนกลาง ตั้งแต่เม็กซิโกจนถึงโคลอมเบีย

พืชในสกุลนี้มีรายงานว่าพบในเมืองไทยอยู่ 4 ชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดในไทยมี 2 ชนิด คือ ต้นเกด (Manilkara hexandra (Roxb.) Dubard) และ ละมุดป่า (Manilkara littoralis (Kurz) Dubard) อีก 2 ชนิดนำเข้ามาจากต่างประเทศ คือ ละมุดสีดา (Manilkara kauki (L.) Dubard) และละมุด หรือละมุดฝรั่ง (Manilkara zapota (L.) P.Royen)

ละมุด หรือละมุดฝรั่ง มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า chickle gum, common naseberry, sapodilla, chicle tree, naseberry เส้นทางเดินของละมุดจากทวีปอเมริกาใต้มาสู่ประเทศไทยไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ

แต่ถ้าพิจารณาจากชื่อท้องถิ่นและข้อมูลของการล่าอาณานิคม พอจะอนุมานได้ว่าละมุดจากอเมริกาเข้ามาที่ฟิลิปปินส์พร้อมกับการล่าอาณานิคม ฟิลิปปินส์เรียกว่า “ชิคโก” (chico) คล้ายกับชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ

จากนั้นเข้ามาที่เกาะชวา ซึ่งเรียกละมุดว่า “ซาหวามะนิลา” (sawo manila)

คำว่าซาหวาเป็นภาษาอินโดนีเซีย หมายถึงผลไม้ที่มีสีน้ำตาล

แล้วเข้ามาในมาเลเซียก่อนเดินทางมาถึงภาคใต้ของไทย ภาคใต้เรียกละมุดเหมือนคนอินโดนีเซียและมาเลเซีย ว่า “ซาหวา”

และมีรายงานของจังหวัดสงขลาที่กล่าวว่าละมุดที่นำมาปลูกที่สงขลามีการนำเข้ามาจากรัฐตรังกานูตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

แต่น่าแปลกใจที่ภาคอื่นๆ ของไทยเรียกว่าละมุด ซึ่งไปคล้ายกับเขมรและลาว ที่ออกเสียงว่าละมุดเช่นกัน

จากการสืบค้นพบว่า คำว่า “ละมุด” มาจากภาษาฟิลิปปินส์แปลว่าของกิน และเป็นชื่อเมืองเมืองหนึ่งในฟิลิปปินส์ด้วย

ละมุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 30 เมตร กิ่งก้าน แตกออกรอบลำต้นเป็นชั้นๆ ทำให้มีลักษณะเป็นพุ่มทึบ

ใบเป็นใบเดี่ยว ท้องใบมีสีน้ำตาลอมเขียว มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ไม่ผลัดใบ

ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ตามง่ามกิ่ง กลีบรองดอกเรียงกันเป็น 2 ชั้น กลีบดอกเชื่อมกันและยกตั้งขึ้น มี 6 กลีบ มีสีเหลืองนวล

ผลเป็นรูปไข่ หรือรูปปลายข้างหนึ่งแหลมเล็กน้อย ผิวผลมีสีน้ำตาล ผลยังไม่สุกมียางสีขาว รสฝาด แข็ง เมื่อสุกจะนิ่ม หวาน ไม่มียาง มีเมล็ดรูปยาว รี ผิวสีดำฝังอยู่ในเนื้อ ผลละ 2-6 เมล็ด ติดผล มีนาคม-มิถุนายน

ถึงแม้จะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย แต่แหล่งผลิตละมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลับอยู่ที่อินเดีย ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย สายพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้าคือ มะกอก ไข่ห่าน และกระสวย ซึ่งจะมีผลรูปไข่เหมือนกัน ต่างกันที่ขนาด

แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของละมุดที่เวียดนามที่มีผลเหมือนสาลี่ด้วย

ละมุดเป็นผลไม้ที่กินผลสด หรือทำเป็นน้ำผลไม้ บางครั้งก็มีการทำเป็นเครื่องดื่มไวน์ ในทางโภชนาการใครที่กินก็รู้ได้ทันทีว่าผลละมุดสุกหวานมีน้ำตาลสูง แต่ก็มีวิตามินเอและซี มีธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส และอื่นๆ อยู่ด้วย หากใครผ่าผลละมุดดิบจะเห็นยางสีขาวเหมือนน้ำนม

ในต่างประเทศ เช่น ชาวมายานิยมนำไม้ละมุดมาสร้างบ้านเรือนหรือทำเครื่องดนตรี

ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือกต้นใช้แก้ท้องเสีย มีการใช้รสฝาดหรือสารฝาดสมานในทางยา เช่น ในฟิลิปปินส์ใช้ เปลือกต้น ต้มดื่มแก้บิด

ยาง ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิอย่างแรง

เมล็ด เป็นยาบำรุง โดยการนำเมล็ดตากแดดให้แห้ง แล้วบดเป็นผง ชงกับน้ำร้อน ดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต

ผลละมุดดิบ ช่วยขจัดพยาธิ ให้นำผลที่ดิบมากๆ มาปอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้นละเอียด นำไปต้มกับน้ำร้อนจะได้น้ำยางออกมามาก เวลาต้มใช้น้ำน้อยๆ เคี่ยวจนน้ำออกเป็นสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นปิดไฟ นำไปกรองด้วยผ้าขาวบางเก็บไว้ใช้ เมื่อจะนำมาดื่มให้ใส่น้ำตาลเล็กน้อยจะได้ดื่มง่ายขึ้น กินเพื่อกำจัดพยาธิได้หลายชนิด ชนพื้นเมืองที่อเมริกากลางนำใบมาต้มดื่มแก้ไข้ ตกเลือด ใช้รักษาแผลและแผลในกระเพาะอาหาร

ดอกนำมาผสมกับแป้งที่ลูบตามร่างกายของผู้หญิงหลังคลอด

เปลือกใช้เป็นยาฝาดสมาน ยาแก้อักเสบ และยาชูกำลัง และยังใช้ความฝาดหรือสารแทนนินจากเปลือกเป็นยารักษาอาการท้องเสียและลดไข้ ผลใช้เป็นยาแก้ความผิดปกติในระบบย่อยอาหารและแก้ท้องเสีย

เมล็ดใช้เป็นยาลดไข้ และเมื่อบดเป็นผงนำมาผสมกับน้ำใช้เป็นยาขับปัสสาวะและขับนิ่วจากกระเพาะปัสสาวะ

รากนำมาบดให้เป็นผงแล้วใช้รักษาเชื้อราในทารก

ในเขมรหมอพื้นบ้านใช้เป็นยาแก้ท้องเสียและลดไข้

 

ละมุดเป็นผลไม้มีวิตามินซีสูงจึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคและช่วยป้องกันหวัดได้ และยังเป็นผลไม้ที่มีเส้นใยมากจึงช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งการกินอาหารที่มีเส้นใยสูงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ด้วย ในเชิงอุตสาหกรรมและผลิตสินค้าพบว่ายางสีขาวจากทุกส่วนของลำต้นสามารถนำไปใช้ในการทำหมากฝรั่งและรองเท้าบู๊ตด้วย ในต่างประเทศปลูกต้นละมุดเพื่อให้ผึ้งเลี้ยงได้มาดูดน้ำหวานจากดอกละมุด

ในอเมริกากลางถิ่นกำเนิดละมุดกินยอดอ่อนและต้นอ่อนของละมุดเป็นอาหาร กินทั้งดิบหรือปรุงให้สุก

แต่ให้ระวังใบแก่เพราะจะมีสารประเภทอัลคาลอยด์มากเป็นพิษต่อร่างกายได้

หากใครลองค้นหาข้อมูลละมุดจากทั่วโลกจะพบประโยชน์มากมาย ละมุด คือผลไม้ สมุนไพร และอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้ประโยชน์ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลากหลายด้วย •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง