E-DUANG : บทบาท “การเมือง” ของ “นักการทหาร”

ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ได้มอบ “บทเรียน” อันมีค่ายิ่งทาง “การเมือง”

นั่นก็คือ บทเรียนพื้นฐานอันท่าน “ซุนวู” ได้ตราเอาไว้ในขบวนกลศึกของท่าน

การศึก คือ การใช้เล่ห์เพทุบาย

หากจำคำกล่าวที่ติด 2 ริมฝีปาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ย่อมไม่ลืมคำว่า “ลับ ลวง พราง”

ลับ ลวง พราง ว่าจะไม่ทำ “รัฐประหาร”

ไม่ว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนสำแดงออกในลักษณะ “ลับ ลวง พราง”

นั่นก็คือ การใช้เล่ห์ เพทุบาย เพื่อบรรลุ “เป้า”

 

บรรดา “นักการเมือง” ไม่ว่าจะอยู่พรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะอยู่พรรคประชาธิปัตย์ อาจชะล่าใจ

มองบรรดา “ขุนทหาร” อย่าง “ประมาท”

ประเมินว่าทหารรู้จักแต่การรบ ไม่รู้จัก “การเมือง” แต่หารู้ไม่ว่า ไม่ว่าการเมือง ไม่ว่าการทหาร ล้วนมี “ราก” งอกมาจากพื้นฐานเดียวกัน

นั่นก็คือ ความต้องการชัยชนะ ความต้องการความสำเร็จ

ทาง 1 คือ สงวนกำลังของฝ่ายตนเอาไว้ให้รอดปลอดภัย ขณะเดียวกัน ทาง 1 คือ ทำลายกำลังของศัตรู กำลังของฝ่ายตรง กันข้าม

ไม่ว่าการเมือง ไม่ว่าการทหาร ในที่สุดแล้วก็เหมือนกัน

เพราะสงครามก็คือ ความต่อเนื่องของการเมือง เป็นการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง

เป็นการเมืองที่มีการหลั่งเลือด

 

การจัดครม.สัญจรบุกเข้าไปถึงถิ่น การป่าวเทวฤทธิ์เรียกตัวนักการเมืองเข้ามาต้อนรับ

นั่นคือ การประสานการทหารเข้ากับการเมือง

เรามักจะมอง “ลีลา” ของนักการเมืองว่า นั่นคือ บทบาทในทางการเมือง หรือกล่าวสำหรับนักการเมืองจากสุพรรณบุรี นักการเมืองจากอ่างทอง

นั่นก็คือ บทบาทของ “ปลาไหล”

แต่เหนือกว่า “ปลาไหล” ก็ยังมี ใครกันเล่าที่สามารถ “สยบ” ปลาไหลจนเรียบร้อยโรงเรียนชาวนา