วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (19)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ในยุคสามรัฐ (ต่อ)

สุดท้ายคือ รัฐอู่ ในช่วงที่ตระกูลซือหม่าโดยซือหม่าเอี๋ยนยึดอำนาจรัฐเว่ยจากตระกูลเฉาแล้วสถาปนาราชวงศ์จิ้นเมื่อ ค.ศ.265 นั้น รัฐอู่ยังคงตั้งอยู่ได้ โดยภายหลังจากที่ซุนฉวนเสียชีวิตใน ค.ศ.252 แล้ว รัฐอู่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการแก่งแย่งอำนาจในหมู่พี่น้องตระกูลซุน

โดยผู้นำสูงสุดคนท้ายๆ ของรัฐอู่คือ ซุนซิว (ซุนฮิว, ค.ศ.235-264) บุตรของซุนฉวนที่เกิดจากสนมก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำใน ค.ศ.258 แต่หลังจากที่รู้ข่าวการล่มสลายของรัฐสู่ใน ค.ศ.263 แล้ว ซุนซิวก็ป่วยหนักจนเสียชีวิตใน ค.ศ.264 ผู้ที่ก้าวขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อคือ ซุนเฮ่า (ซุนโฮ, ค.ศ.242-284) ซึ่งเป็นหลานของซุนฉวน

ซุนเฮ่าได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ แต่ไร้ความรับผิดชอบในการปกครองรัฐเว่ยให้ได้ดี จนมีเรื่องตลกร้ายเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งมีผู้พยากรณ์ดวงชะตาของซุนเฮ่าว่าจะได้ครองฉัตรเข้าเมืองลว่อหยาง จนทำให้ซุนเฮ่าเข้าใจว่าตนจะได้ครองแผ่นดินจีนที่เป็นเอกภาพแล้ว จะด้วยเหตุนี้หรือไม่มิอาจทราบได้ ที่ทำให้ซุนเฮ่าไม่เป็นอันใส่ใจในกิจการบ้านเมือง

ตราบจน ค.ศ.280 นั้นเอง ทัพของราชวงศ์จิ้นก็กรีธาเข้าตีรัฐอู่จนรัฐอู่ยอมจำนน และเมื่อทัพจิ้นบุกเข้าถึงเมืองเจี้ยนคังอันเป็นเมืองหลวงของรัฐอู่ (ปัจจุบันคือเมืองหนานจิงหรือนานกิง) แล้ว ทหารจิ้นก็ทำการควบคุมตัวของซุนเฮ่าไปยังเมืองหลวงลว่อหยาง

การควบคุมตัวนี้เป็นไปโดยให้เกียรติแก่ซุนเฮ่าในฐานะที่เป็น “จักรพรรดิ” ของรัฐอู่ด้วยการมีฉัตรกางให้ ซุนเฮ่าจึงเข้าเมืองลว่อหยางพร้อมฉัตรตรงกับคำพยากรณ์

ชั่วอยู่แต่ว่าเข้าไปด้วยความหมายกับที่ซุนเฮ่าตีความเท่านั้น คือมิได้เข้าไปในฐานะจักรพรรดิ แต่เข้าไปในฐานะเชลย รัฐอู่จึงล่มสลายด้วยเหตุนี้

 

ในยามที่มีความมั่นคงภายในอยู่นั้น รัฐอู่ก็คล้ายกับรัฐสู่และเว่ยที่ต่างก็มีผลงานอันยังความเจริญแก่รัฐตน

ในกรณีของรัฐอู่ก็คือ การขยายระบบชลประทานขึ้นในพื้นที่ที่ซึ่งปัจจุบันคือมณฑลเจ้อเจียง ทั้งยังได้เผยแผ่วิทยาการการผลิตไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือลงมายังตอนล่างของแม่น้ำหยางจื่อ เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับการพัฒนาอีกด้วย

แต่ที่ดูจะโดดเด่นกว่ารัฐสู่และเว่ยก็คือ การสร้างความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ที่กล่าวกันว่า รัฐอู่มีความกระตือรือร้นและความมานะพยายามอย่างมาก

โดยใน ค.ศ.230 ซุนฉวนได้บัญชาให้ขุนนางและขุนศึกสองคนนำกองเรือที่มีทหารราว 10,000 นายไปยังอี๋โจว ที่ซึ่งปัจจุบันคือเกาะไต้หวัน

และอีกสามปีต่อมาก็ยังมีอีกกองเรือหนึ่งเดินทางไปยังรัฐต่างๆ ในแถบเหลียวตง การไปยังในแถบนี้รัฐอู่ยังได้นำม้าพันธุ์ดีกลับมาด้วยจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ ซุนฉวนยังได้ตั้งให้ขุนนางของตนสองคนเป็นทูตไปยังรัฐต่างๆ แถบทะเลจีนใต้อีกด้วย

และเมื่อกลับมายังรัฐอู่แล้ว ทูตทั้งสองก็ได้เขียนบันทึกเรื่องราวการเดินทางของตนขึ้น ส่วนหนึ่งของบันทึกทำให้รู้ว่า เวลานั้นได้มีพ่อค้าชาวโรมันเดินทางมาค้าขายกับรัฐอู่โดยใช้ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางผ่านแล้ว โดยพ่อค้าบางคนยังได้พำนักอยู่ที่รัฐอู่ยาวนานเจ็ดถึงแปดปีอีกด้วย

ความโดดเด่นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐอู่ดังกล่าวแม้จะดำเนินไปด้วยดี

แต่ก็มีคำถามว่า เหตุใดการเดินเรือไปยังต่างแดนของรัฐอู่จึงต้องนำกองทหารนับหมื่นไปด้วย?

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจพิจารณาได้เป็นสองด้าน ด้านหนึ่ง เป็นไปเพื่อป้องกันความปลอดภัยให้แก่กองเรือ เพราะกองเรือนี้คงมีหลายสิบลำ แต่ละลำย่อมขนสิ่งของมีค่าที่จะนำไปขายหรือแลกเปลี่ยนกับรัฐต่างๆ ที่จะเจริญไมตรีด้วย

อีกด้านหนึ่ง เป็นไปในเชิงคุกคาม เพราะโลกในเวลานั้นแม้ได้เกิดการค้าทางทะเลแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีรัฐใดที่จะขนทหารไปมากมายขนาดนั้น ส่วนที่ว่าเป็นไปในเชิงคุกคามนั้นก็มิได้หมายความว่ารัฐอู่มุ่งแต่จะใช้กำลังเข้าตีรัฐต่างๆ หากแต่แสดงให้เห็นแสนยานุภาพเพื่อให้เกิดความยำเกรงเท่านั้น ด้วยอาจมีบางรัฐมีนโยบายไม่ต้อนรับชาวต่างชาติ และเมื่อเห็นกองเรือต่างชาติมาถึงก็อาจทำการตอบโต้ด้วยกำลังได้ การมีกองทหารไปเป็นจำนวนมากเช่นนั้นก็อาจข่มรัฐเหล่านี้ได้

ประเด็นคำถามต่อมาคือ การที่บันทึกของรัฐอู่ได้กล่าวถึงรัฐต่างๆในแถบทะเลจีนใต้นั้น ทำให้รู้ว่าในแถบนี้มีรัฐเกิดขึ้นแล้วจำนวนมาก ซ้ำหลายรัฐยังมีการค้าขายกับรัฐจากดินแดนอื่นๆ อีกด้วย

ในแง่นี้รัฐอู่หรือจีนจึงมิใช่ชาติเดียวที่มีปฏิสัมพันธ์กับดินแดนในทะเลจีนใต้

ดังนั้น ในกรณีที่จีนยกเอาประวัติศาสตร์ในช่วงตอนต่างๆ ที่ตนเดินทางมายังทะเลจีนใต้ (ในที่นี้ก็คือกรณีของรัฐอู่) มาเป็นเหตุผลว่าตนคือเจ้าของทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดในทุกวันนี้นั้นจึงขาดความหนักแน่นและมีความคลุมเครือ โดยเฉพาะในสายตาของนักกฎหมายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ค.ศ.280 ที่ทัพของราชวงศ์จิ้นบุกเข้าตีรัฐอู่จนล่มสลาย ก็คือหลักหมายของการสิ้นสุดลงของยุคสามรัฐ ดังนั้น หากนับแต่ที่ยุคนี้เริ่มต้นเมื่อ ค.ศ.220 จนถึงสิ้นยุคใน ค.ศ.280 แล้ว ยุคนี้มีอายุยาวนาน 60 ปี ภายหลังจากนั้นแผ่นดินจีนจึงหวนกลับมาเป็นเอกภาพอีกครั้งหนึ่ง

โดยมีราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.265-420) เป็นผู้ปกครอง

 

สามรัฐพินิจ

จากที่ได้อธิบายเรื่องราวของยุคสามรัฐมาโดยตลอดนั้น จะสังเกตได้ว่า หากกล่าวเฉพาะผู้อ่านวรรณกรรม สามก๊ก แล้วความประทับใจหรือความทรงจำมักจะอยู่ตรงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนบ้านเมืองจีนจะถูกแบ่งเป็นสามรัฐ และงานศึกษานี้ที่หมายมุ่งเฉพาะเรื่องราวที่อยู่ใน จดหมายเหตุสามรัฐ ของเฉินโซ่ว และเอกสารอื่นๆ ประกอบนั้นก็สะท้อนภาพทำนองนี้เช่นกัน

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องราวก่อนหน้ายุคสามรัฐมีสีสันมากกว่ายุคสามรัฐ

สีสันที่ว่านี้อาจดูได้จากบุคคลต่างๆ ที่ปรากฏออกมานั้น จะมีอุปนิสัยใจคอที่แตกต่างกันจนเห็นได้ถึงบุคลิกเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือ ความเป็นมนุษย์ ที่แต่ละบุคคลมักจะมีด้านดีและด้านร้ายดำรงอยู่ในตัว

และบุคลิกเหล่านี้ก็ถูกขับออกมาเป็นบทบาททางการเมืองและการทหาร ที่แต่ละบทบาทต่างก็มีที่สำเร็จและล้มเหลว

จากเหตุดังกล่าว ผู้สนใจเรื่องราวในยุคสามรัฐก็ดี หรือสนใจผ่านงานวรรณกรรมก็ดี จึงมีความทรงจำหรือความประทับใจต่อบุคคล อย่างเช่น เฉาเชา หลิวเป้ย และซุนฉวนเป็นหลัก โดยที่ว่าสนใจเป็นหลักนี้หมายถึงการที่บุคคลทั้งสามเป็นเสมือนเสาหลักของเรื่องราว มิได้หมายถึงบุคคลที่อยู่รายล้อมบุคคลทั้งสามจะไม่น่าสนใจ

เหตุฉะนั้น บุคคลที่น่าสนใจรองลงมาจึงมีสีสันที่ไม่แพ้บุคคลทั้งสาม บุคคลเหล่านี้ก็เช่น หลี่ว์ปู้ หยวนเส้า กวานอี่ว์ จางเฟย (เตียวหุย) โจวอี๋ว์ และจื่อหลง เป็นต้น

บุคคลทั้งที่เป็นตัวหลักหรือตัวรองของเรื่องราวเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะโลดแล่นอยู่ในช่วงก่อนยุคสามรัฐ บุคคลเหล่านี้บ้างก็เสียชีวิตไปก่อนยุคสามรัฐ บ้างก็เสียชีวิตไปหลังจากยุคสามรัฐเกิดได้ไม่นาน ซึ่งนั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรื่องราวก่อนยุคสามรัฐอยู่ในความทรงจำมากกว่ายุคสามรัฐ

 

จากความเข้าใจข้างต้นจึงทำให้เข้าใจต่อไปว่า เหตุใดเวลาที่เอ่ยถึงยุคสามรัฐแล้ว การบันทึกเป็นจดหมายเหตุก็ดี หรือแต่งเติมเป็นงานวรรณกรรมก็ดี จึงได้บอกเล่าเรื่องราวก่อนยุคสามรัฐเสียยาวเหยียด แต่เรียกเรื่องราวที่ถูกบอกเล่านี้ว่า สามก๊ก หรือ จดหมายเหตุสามรัฐ

อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อสังเกตข้างต้นแล้วก็ยังมีในส่วนที่เป็นข้อคิดอีกด้วย ข้อคิดนี้มีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์จีนอยู่ไม่น้อย

นั่นคือ เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่โดดเด่นขึ้นจนมีฐานะเป็นผู้นำนั้น เราจะเห็นได้ว่า หลายคนสามารถตั้งตนเป็นจักรพรรดิขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย

แต่คนเหล่านี้กลับไม่ทำเช่นนั้น ยังคงใช้อำนาจเข้าควบคุมจักรพรรดิแล้วใช้อำนาจแทนจักรพรรดิ

คำถามจึงมีว่า เหตุใดบุคคลเหล่านี้จึงทำเช่นนั้น?

เกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะอธิบายได้ว่า เป็นเพราะราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์แรกที่นำเอาหลักคำสอนของลัทธิขงจื่อมาเป็นหลักในการปกครอง โดยที่สาระสำคัญประการหนึ่งของลัทธินี้จะให้ความสำคัญกับหน้าที่ของบุคคล ว่าบุคคลไม่ว่าจะมีนาม (หมิง) ในทางสังคมว่าอย่างไร บุคคลก็พึงที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามนามของตนให้เที่ยงตรงไม่เบี่ยงเบน

นามทางสังคมก็เช่น กษัตริย์ ขุนนาง บิดา มารดา บุตร ฯลฯ หากแต่ละนามไม่ปฏิบัติตนตามนามของตนให้เที่ยงตรงแล้ว สังคมก็จะปั่นป่วนวุ่นวายหรือบ้านเมืองเป็นทุรยุค

ด้วยเหตุนี้ ขุนนางอย่างต่งจว๋อหรือเฉาเชาจึงเลือกที่จะรักษาองค์จักรพรรดิไว้ในมือตน แล้วใช้อำนาจแทนจักรพรรดิไปตามที่ตนต้องการ ดีกว่าตั้งตนเป็นจักรพรรดิแทน หาไม่แล้วจะขึ้นชื่อว่าเป็นขุนนางที่ไม่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ อันเท่ากับไม่ปฏิบัติตามนามขุนนางของตน

ซึ่งหน้าที่หนึ่งของนามขุนนางก็คือต้องจงรักภักดีต่อราชวงศ์