ธงทอง จันทรางศุ | ‘รู้คิด’ วันเด็ก

ธงทอง จันทรางศุ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมเคยฉลองวันเด็กในวัยเยาว์ของผมในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ใครทันยุคแบบผมโปรดยกมือขึ้น

ฮั่นแน่! มีแต่คนแก่ทั้งนั้นเลย ฮา!

ถูกต้องแล้วครับ ธรรมเนียมการจัดงานฉลองวันเด็กนั้นไม่ใช่วัฒนธรรมเก่าแก่ของเมืองไทย และไม่ได้ยึดโยงกับศาสนาหรือประเพณีดั้งเดิมอะไรทั้งสิ้น หากแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันกับปีเกิดของผมเสียด้วยซ้ำไป

ผมหมายความถึงพุทธศักราช 2498 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานวันเด็กขึ้นในประเทศไทย ตามข้อเสนอขององค์กรสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ที่เชิญชวนให้ประเทศทั้งหลายจัดให้มีวันสำคัญเพื่อฉลองความสำคัญของเด็ก

พร้อมกันกับเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ เพื่อรับช่วงต่อของสังคมในวันข้างหน้า

งานวันเด็กคราวแรกในประเทศไทยจัดขึ้นเพิ่งในเดือนตุลาคมพุทธศักราช 2498

แปลว่างานวันเด็กอ่อนเดือนกว่าผมผู้เกิดในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันราวสี่เดือนครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสวนบัว พอถึงวันเด็กซึ่งตรงกันกับวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม โรงเรียนก็จะจัดงานขึ้นภายในโรงเรียนของเราเอง เด็กนักเรียนไม่ต้องไปเพ่นพ่านที่ไหน มีกิจกรรมความบันเทิงสนุกสนานต่างๆ อยู่ภายในบริเวณโรงเรียน ปลอดภัยสุดๆ ครับ

และผมยังจำได้ว่าโรงเรียนของเราจัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ ที่เป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องประเพณีไทยแจกนักเรียนเป็นที่ระลึกวันเด็กคนละหนึ่งเล่ม

หนังสือที่ว่านี้บางเล่มยังซุกซ่อนอยู่ในซอกมุมของบ้านผมแต่ตรงไหนไม่ทราบเหมือนกัน เพราะหนังสือทุกเล่มในบ้านของผมเป็นหนังสือหายากทั้งนั้น

ที่ว่าหายากคือหาไม่เคยเจอเลย

งานวันเด็กในสมัยที่ผมเป็นเด็กอยู่ยั้งยืนยงในเดือนตุลาคมของแต่ละปีมาจนถึงการจัดงานวันเด็กครั้งสุดท้ายตามกำหนดนัดหมายดังกล่าวในเดือนตุลาคมพุทธศักราช 2506

แล้วเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบ อยู่ดีๆ ปี 2507 การจัดงานวันเด็กก็หายไป แล้วขยับไปโผล่อีกทีสามเดือนถัดมาก็มีการจัดงานวันเด็กในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมขึ้นเป็นครั้งแรก ต้นปี 2508 และใช้กำหนดนัดหมายดังกล่าวสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ตรงนี้ผมขอเล่าแทรกเสียหน่อยในฐานะที่เคยไปทำงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นมานานหนึ่งปีเต็มว่า ในประเทศญี่ปุ่นเขามีงานวันเด็กเหมือนกันครับ แต่แบ่งย่อยออกเป็นงานวันเด็กชายและวันเด็กหญิง และที่สำคัญคือวันเด็กทั้งสองวันที่ว่านี้เป็นประเพณีเก่าก่อนเนิ่นนานก่อนที่สหประชาชาติจะมาแนะนำให้มีวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาเสียอีก

วันเด็กชายของเมืองญี่ปุ่นนั้นกำหนดวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เครื่องหมายสำคัญที่สังเกตเห็นได้ชัดคือการมีเสาธงอยู่ที่หน้าบ้านและชักธงรูปปลาคาร์ฟขึ้นที่เสานั้น มีตัวใหญ่ตัวย่อมเรียงลำดับกัน ตามความหมายที่หมายถึงคุณพ่อ คุณแม่ และลูกชาย เท่าจำนวนลูกชายที่มีในบ้าน

ดังนั้น ถ้าบ้านไหนมีลูกชายสามคน ที่เสาธงก็จะมีธงปลาคาร์ฟซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอดทนสู้กับปัญหาอุปสรรคเพื่อที่จะเติบโตขึ้นมาอย่างสวยงามจำนวนถึงห้าตัว คือของคุณพ่อคุณแม่สองตัว และของลูกชายอีกสามตัว

วันเด็กผู้ชายนี้เป็นวันหยุดราชการประจำปีเลยนะครับ เขาให้ความสำคัญกันถึงขนาดนั้น

ส่วนวันเด็กผู้หญิงเมืองญี่ปุ่นนั้น กำหนดในวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี แต่ไม่หยุดราชการ การเฉลิมฉลองจึงมีขนาดย่อมกว่า และมีสัญลักษณ์ที่เห็นได้จากการจัดชั้นวางตุ๊กตาภายในบ้านที่มีลูกสาว

จำนวนตุ๊กตาหมายถึงใครหรือหมายถึงอะไรบ้างนั้นอธิบายกันได้ยืดยาว แต่เกินปัญญาของผม ดังนั้น ขอได้โปรดสอบถามจะชาวญี่ปุ่นตัวจริงเถิดครับ

ย้อนกลับมาพูดถึงงานวันเด็กเมืองไทย ถ้าถามผมว่าพูดถึงงานวันเด็กแล้วผมนึกถึงอะไรขึ้นมาบ้าง คำตอบก็พอจะมีอยู่สองข้อครับ

เรื่องแรกที่เด็กทุกคนจะต้องนึกออกคือ “คำขวัญวันเด็ก” เรื่องนี้เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่การจัดงานวันเด็กครั้งที่สองของเมืองไทยเมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นท่านให้คำขวัญวันเด็กครั้งแรกว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” ส่วนคำขวัญวันเด็กล่าสุดของปี 2565 นี้ อย่างที่เรา “ยู้ๆ หรู่” ล่ะครับ

ลุงตู่ท่านบอกว่า “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม”

ถ้าไม่โกรธเคืองกันก็จะพูดตรงไปตรงมาล่ะครับว่า คำขวัญวันเด็กนี้เป็นอะไรที่เชยได้ใจจริงๆ เคยทำมา 60 กว่าปีอย่างไรก็ยังทำอย่างนั้น

ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วเด็กก็คงท่องได้เป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่จะให้เข้าใจหรือจับใจลึกซึ้งอะไรคงยาก เพราะปีหน้าก็มีคำขวัญวันเด็กมาใหม่อีกแล้ว ใครไปจดจำของปีก่อนได้ใช่ไหมครับ

อย่าว่าอะไรเลย ลองไปถามเจ้าของคำขวัญวันเด็กว่าคำขวัญปีก่อนหรือก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง คำขวัญวันเด็กมีว่าอะไร ถ้าไม่บอกให้เตรียมตัวท่องมาก่อนแล้วตอบได้สดๆ แบบนี้ก็น่าปูผ้ากราบครับ

ผมเลยนึกไม่ออกเหมือนกันว่าคำขวัญวันเด็กนี้เอาเข้าจริงแล้วมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน หรือว่าเป็นแต่เพียงการทำตามแบบที่เคยทำมาจึงต้องทำต่อไป

บ้านเรามีเรื่องชนิดนี้มากมายนะครับ มองดูแล้วก็ได้คติหรือสติปัญญาเตือนใจอยู่เหมือนกัน

เรื่องที่สองที่นึกออก คือพอถึงงานวันเด็กในแต่ละปีส่วนราชการทั้งหลายก็จะจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และความบันเทิงกับเด็กๆ กระทรวงศึกษาธิการเป็นแม่งานใหญ่ก็จัดงานครึกครื้นกว่ากระทรวงอื่น แต่กระทรวงกลาโหมของเราก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีของเด็กเล่นมากเอาการอยู่

รถถังเอย เรือบินเอย เรือทั้งดำน้ำและไม่ดำน้ำเอย ที่มีสะสมไว้เป็นจำนวนมากพอสมควรก็ได้เอามาออกงานกันคราวนี้เอง

เด็กไทยของเราบางคนจึงติดนิสัยชอบสะสมรถถัง เรือบิน เรือดำน้ำมาตั้งแต่เป็นเด็ก โตขึ้นแม้จนอายุมากแล้วก็ยังอยากเล่นงานวันเด็กเหมือนเดิม ฮา!

สำหรับผมแล้วเมื่อนึกถึงงานวันเด็กก็นึกออกเพียงสองข้อที่ว่านี้เอง เรื่องอื่นที่ทำให้เกิดผลจิรังยั่งยืนมากไปกว่านี้ นึกไม่ค่อยออก

ตามความเห็นของผมแล้ว คนที่ควรมีบทบาทสำคัญในงานวันเด็กคือผู้ใหญ่ทั้งหลาย แต่ไม่ใช่บทบาทที่จะไปแจกไอศกรีมหรือประคองเด็กขึ้นเครื่องบินรบนะครับ

แต่ผมนึกว่าอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบในเรื่องการเลี้ยงดูเด็กให้เติบใหญ่ขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ควรใช้วาระนี้หยุดคิดหรือมานั่งประชุมร่วมกัน เพื่อทบทวนดูว่าเด็กที่เป็นลูกหลานของเราเขาได้รับโอกาสที่จะเติบโตขึ้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เป็นคุณภาพที่พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นคุณภาพที่เป็นความหวังของคนอื่นได้ไปพร้อมๆ กัน เพียงพอแล้วหรือยัง หรือมีอะไรที่ยังพร่องอยู่และควรจะแก้ไขเติมให้เต็ม

เด็กกลุ่มที่เปราะบางหรือมีปัญหาเฉพาะ สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างไรบ้าง

ทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัด จะนำมาใช้จ่ายอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กที่เราพร่ำบอกว่าเป็นอนาคตของตัวเราเอง

นอกจากเงินทอง อาคารสถานที่หรือทรัพยากรที่เป็นรูปธรรมแล้ว เด็กของเรายังต้องการอะไรที่เป็นนามธรรมอีกมาก เป็นต้นว่าความเข้าอกเข้าใจ ความเอื้ออาทร ตลอดไปจนกระทั่งการเปิดใจเปิดหูเปิดตาของผู้ใหญ่ให้กว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความฝันของเด็กๆ อย่างจริงจัง แล้วนำไปคิดตรึกตรองให้เกิดผลจริง ไม่ใช่สักแต่เป็นเพียงพิธีกรรม

การเปิดห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีให้เด็กเข้าแถวยาวไปผลัดกันถ่ายรูป ขณะนั่งอยู่ที่เก้าอี้ท่านนายกฯ คนละ 30 วินาที ไหนเลยจะสู้กับการให้เด็กได้ลองบริหารงานตัดสินใจเป็นนายกรัฐมนตรีดูสักวันหนึ่ง ไม่ใช่แค่นั่งเก้าอี้ถ่ายรูปเท่านั้น

ถ้าทำแบบที่ว่าแค่วันเดียว ชะดีชะร้ายเดียวเมืองไทยเราจะเจริญเห็นหน้าเห็นหลังเลยไม่รู้ด้วยนะเออ