‘5,757วัน’ สิ้นสุดการอดอาหารประท้วง ของหญิงเหล็กแห่งมณีปุระ

หากเอ่ยถึงการประท้วงอย่าง “สันติ” โลกคงจะนึกถึง “มหาตมะ คานธี” นักเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย โดยใช้วิธีอหิงสา และกลายเป็นต้นแบบของการประท้วงแบบสันติเรื่อยมา โดยแนวทางการประท้วงอย่างสันติ ยังคงมีอยู่ให้เห็นอยู่ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

และหนึ่งในวิธีการประท้วงอย่างสันติที่ได้เห็นกันบ่อยครั้ง คือการ “อดอาหาร” เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ตาม

“ไอรอม ชานู ชาร์มีลา” สตรีนักเคลื่อนไหวชาวอินเดีย ชาวรัฐมณีปุระ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เดินทางตามแนวทางของคานธี

โดยชาร์มีลา เริ่มการอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.2000 หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ “มาลอม” ซึ่งประชาชน 10 คนถูกกลุ่มกองกำลังของรัฐบาลอินเดียสังหารใกล้กับเมืองอิมผาล รัฐมณีปุระ ชาร์มีลาประกาศจะไม่ยอมดื่มน้ำ ไม่กินอาหาร ไม่หวีผม และไม่ส่องกระจก

จนกว่ารัฐบาลอินเดียจะยกเลิกกฎหมายให้อำนาจพิเศษกองทัพ หรือ อาฟสปา ที่เปิดทางให้ทหารสามารถก่อเหตุเข่นฆ่าผู้คนในพื้นที่ความวุ่นวายได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำไป


“อาฟสปา” ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของพรรคองเกรสภายใต้รัฐบาลของ นายเยาวราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ตั้งแต่เมื่อปี 1958 ใน 2 รัฐแรกของอินเดีย คือ รัฐอัสสัม และรัฐมณีปุระ ก่อนจะขยายต่อไปยังรัฐอื่น และถูกนำมาใช้ในรัฐบาลต่อๆ มาเพื่อการจัดการกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในหลายรัฐของอินเดีย

ชาร์มีลา ผู้ที่เกิดมาในครอบครัวฐานะปานกลาง เติบโตขึ้นในมาสังคมที่มีแต่การเคอร์ฟิว และการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยคอมมานโดตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ หลังจากเรียนไม่จบเกรด 12 ชาร์มีลาจึงได้หันมาเขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง และเดินทางไปทั่วรัฐมณีปุระ ด้วยจักรยานคันเดียวของเธอ เขียนรายงานเรื่องเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกระทำการอันละเมิดต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น

กระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2000 เกิดเหตุระเบิดข้างถนนใกล้กับรถยนต์ของทหารนอกเมืองอิมผาล แม้ว่าจะไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่หน่วยคอมมานโด ก็แก้แค้นด้วยการสังหารชาวบ้านไปถึง 10 คน ที่บริเวณป้ายรถเมล์ที่อยู่ใกล้กับบ้านของชาร์มีลา โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นการ “ป้องกันตัวเอง”

และเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาร์มีลาลุกขึ้นมาแสดงออกอย่างจริงจังต่อความไม่เห็นด้วยกับอาฟสปา ด้วยการอดอาหารประท้วง

แต่หลังการอดอาหารได้เพียงแค่ 3 วัน ชาร์มีลาก็ถูกตำรวจจับข้อหาพยายามฆ่าตัวตาย ที่ถือเป็นคดีอาญาในประเทศอินเดีย และถูกควบคุมตัวในที่สุด หลังจากนั้นสภาพร่างกายของชาร์มีลาก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนทางการต้องบังคับให้มีการให้อาหารทางจมูก เพื่อให้ชาร์มีลายังคงมีชีวิตอยู่รอด

หลังจากนั้น ชาร์มีลาก็กลายเป็น “หญิงเหล็กแห่งมณีปุระ” ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านความรุนแรงอันเกิดจากภาครัฐ

000_Del213809

กระทั่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2016 ที่ผ่านมา ชาร์มีลาสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้สนับสนุนเธอ ด้วยการประกาศขอยุติการอดอาหารประท้วง และบ่ายวันเดียวกัน ศาลก็ให้ประกันตัวชาร์มีลาออกมา

เป็นอันสิ้นสุดการอดอาหารประท้วงที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 5,757 วัน หรือราว 16 ปี และทำให้ชาร์มีลากลายเป็นผู้ที่อดอาหารประท้วงยาวนานที่สุดในโลก

การประกาศดังกล่าว สร้างความขุ่นเคืองให้แก่บรรดาผู้ที่ให้การสนับสนุนสตรีเหล็กนางนี้อย่างมาก เพราะเป้าหมายที่ชาร์มีลาเคยประกาศไว้ว่า จะไม่ยอมเลิกการอดอาหารจนกว่า อาฟสปา จะถูกยุบไป

นายทกปัม โซโมเรนดรา ผู้สูญเสียลูกชายไปจากเหตุสังหารหมู่มาลอม บอกว่า ตนเคยชื่นชมว่าชาร์มีลาเป็นบุคคลที่ต่อสู้เพื่อผู้คนมาอย่างลำพังโดดเดี่ยว ไม่ได้สู้เพื่อใคร แต่สู้เพื่อทุกคน และเชิดชูชาร์มีลารองจากพระเจ้าเท่านั้น แต่เหตุใดตอนนี้จึงยกเลิกความพยายาม

ชาร์มีลา กล่าวต่อผู้สนับสนุนกรณีที่มีผู้ไม่พอใจที่เธอยกเลิกการอดอาหารประท้วง ตอนนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ว่า “ปล่อยให้พวกเขามาฆ่าฉัน เหมือนกับที่ทำกับมหาตมะ คานธี ด้วยเลือดของพวกเขา ผู้คนยังคงมองฉันไม่ดี อยากให้ฉันมีชีวิตอยู่กับท่อต่ออาหาร โดยชีวิตที่ไร้ซึ่งความปรารถนา และเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของการต่อต้าน แต่นี่คือสิทธิในการเลือกของฉัน ฉันมีสิทธิที่จะได้เป็นมนุษย์คนหนึ่ง”

“ฉันต้องอยู่อย่างนี้มา 16 ปี ตอนนี้ฉันอยากได้ชีวิตของฉันกลับคืนมา” ชาร์มีลากล่าว และว่า “ฉันไม่ได้อยากจะเป็นพระเจ้าของใคร แต่ฉันอยากมีชีวิตแบบปกติธรรมดา”

และสิ่งที่ชาร์มีลาได้ลิ้มรสเป็นอันดับแรกหลังยกเลิกการอดอาหาร คือ “น้ำผึ้ง” ที่ชาร์มีลาในวัย 44 ปี และแม้ว่าชาร์มีลาจะยกเลิการอดอาหาร แต่เธอก็ประกาศที่จะเดินหน้าต่อสู้ต่อไป ด้วยการต่อสู้ในสนาม “การเมือง” แทน โดยเธอมีแผนที่จะลงเลือกตั้งในรัฐมณีปุระในปีหน้า

และเตรียมที่จะแต่งงานกับ “เดสมอนด์ คูทินโฮ” คู่หมั้นชาวอังกฤษที่เกิดที่ประเทศอินเดีย ชายผู้เขียนจดหมายหาชาร์มีลา ตั้งแต่ได้อ่านเรื่องราวของเธอเมื่อปี ค.ศ.2009

และหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการอดอาหารประท้วงของชาร์มีลา ก็เชื่อว่า นายคูทินโฮนี่เองที่เป็นคนยุให้ชาร์มีลายกเลิกการอดอาหาร ขณะที่อีกหลายคนเชื่อว่า หญิงเหล็กแห่งมณีปุระนี้ คิดคำนวณมาแล้วว่าจะเดินทางใดต่อไป

แต่ตอนนี้ มีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามาทาบทามชาร์มีลาให้ร่วมเป็นสมาชิกแล้ว แต่ดูเหมือนชาร์มีลายังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่กับพรรคใด หรืออาจจะเป็นนักการเมืองอิสระ

ชาร์มีลาเท่านั้นที่รู้!